"ล็อกดาวน์ กทม." ร้านอาหาร-แคมป์คนงาน 30 วัน

25 มิ.ย. 2564 | 20:00 น.

ศบค. ล็อกดาวน์  “กทม.-ร้านอาหาร-แคมป์คนงาน” 30 วัน ดีเดย์ 28 มิ.ย. ห้าง ร้านค้าปลีก โดนด้วย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ที่เข้าขั้นวิกฤติสุดขีด จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงทะลุหลัก 3,000-4,000 รายต่อวันติดต่อกันต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ต้องปิดรับผู้ป่วยทั้งในระดับสีเขียว สีเหลืองและสีแดงหรือผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤติในห้องฉุกเฉินและห้อง ICU  รวมถึงโรงพยาบาลสนามก็ไม่มีเตียงรองรับ

อัพเดท: 

ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19หรือ ศปก.ศบค. และที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์โควิด-19 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน และคณะ เข้าหารือถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และเรื่องวัคซีน ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียด ที่แพทย์และหลายฝ่ายต้องรองรับสถานการณ์โควิด-19

ล่าสุด ศบค. เตรียมประกาศให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯและปริมณฑลพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงเช่นกัน

โดยพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะประกาศล็อกดาวน์ “ร้านอาหาร” ทุกประเภท โดยห้ามนั่งรับประทานในร้านแบบ 100% ให้ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น เป็นระยะเวลา 30 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

รวมถึงล็อกดาวน์ “แคมป์คนงานก่อสร้าง” ห้ามเข้า-ออกและเคลื่อนย้ายคนแบบ 100% หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมโรค เบื้องต้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เช่นกัน  โดยจะมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลช่วยเหลือแรงงานคนไทยและแรงงานต่างชาติ

ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้าปลีก รวมถึงร้านสะดวกซื้อ อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดเวลาเปิด-ปิดให้บริการ เพื่อลดการแพร่ระบาดต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์และร้านค้าปลีกจะกำหนดให้ปิดบริการในเวลา 21.00 น.

เป้าหมายหลักของการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ คือ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่อง และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ตลอดเวลา จนทำให้โรงพยาบาลไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย ขณะที่การฉีดวัคซีนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปตามแผนบริหารจัดการวัคซีนที่วางไว้ แม้ตัวเลขผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน แต่ก็ยังไม่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

"ล็อกดาวน์ กทม." ร้านอาหาร-แคมป์คนงาน 30 วัน

ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กผ่านบัญชี หมอตี๋ สาธิต ปิตุเตชะ ระบุ ถึงสถานการณ์ วิกฤติผู้ป่วยโควิด19ล้นเตียง  ว่า  เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และ อาการรุนแรง เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 ในประเทศไทย ไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้น จนถึงขั้นเกิด วิกฤติผู้ป่วยล้นเตียง โดยมีผู้ป่วยตกค้าง อยู่ที่บ้านทั้งมีอาการและมีอาการ จนมีบางรายเสียชีวิตที่บ้านแล้ว

ทั้งนี้ ศบค. หน่วยงาน ซึ่งรายงานตรงต่อ ท่านนายกรัฐมนตรี ควรมีมาตรการ เข้มข้น เข้มงวด ออกมาเพื่อช่วยสถานการณ์ ดังนี้ 

  • งดการเดินทางเข้าออก การเคลื่อนย้าย ลดกิจกรรมและลดการพบปะ ของคน (ล็อกดาวน์ กทม.) พร้อมกับจัดการหาผู้ติดเชื้อใน กทม. (อย่างน้อย 14 วัน ) โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายความมั่นคงรวมถึง งดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ
  • ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อเข้าใจสถานการณ์ และร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำ ของ สธ.
  • วัคซีน ต้องเร่งฉีดให้คน 2 กลุ่มเสี่ยงก่อนเป็น Priority แรกโดยเร็วที่สุด ได้แก่คนอายุมาก และ 7 เสี่ยงโรค ที่นัดใว้ในเดือน กค ใน กทม ประมาณ 500,000 รวมทั้งคน 2 กลุ่มนี้ที่ยังไม่ลงทะเบียนโดยใช้วัคซีน  AZ 

โดย ทั้งหมด เพื่อลดการตาย  ,ลดการใช้ห้อง ICU , ลดการทำงานของแพทย์ พยาบาลก่อน เนื่องจากคน 2 กลุ่มดังกล่าว  เมื่อติดเชื้อกว่า 70% คือคนที่มีอาการหนักและเสียชีวิต 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 24 มิ.ย. พบว่า มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 1 โดส จำนวน  6,206,353 คน คิดเป็น 8.9% ของจำนวนประชากร ส่วนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีจำนวน  2,451,070 คน คิดเป็น 3.5% ของจำนวนประชากร

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา พบว่า ณ วันที่ 23 มิ.ย. มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 37,018 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล 11,366 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 25,652 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,526 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 433 ราย

ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย.  2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 236,291 ราย รักษาหายแล้ว 193,106 ราย เสียชีวิตสะสม 1,819 ราย โดยกรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 68,705 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 17,226 ราย มีผู้เสียชีวิต 19 ราย เสียชีวิตสะสม 967 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :