"AstraZeneca" ไม่พอ "หมอเฉลิมชัย" ชี้เกาหลีใต้จำใจต้องฉีดวัคซีนโควิดคนละบริษัท

20 มิ.ย. 2564 | 06:10 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลเกาหลีใต้จำใจต้องฉีดวัคซีนโควิดคนละบริษัท หลังโคแวกซ์ส่ง "AstraZeneca" ล่าช้า

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
    คาดเกาหลีใต้ จำใจต้องฉีดวัคซีนโควิดคนละบริษัท ให้ประชาชนกว่า 7.6 แสนคน เหตุเกิดจากโครงการ COVAX ส่งวัคซีน AstraZeneca ล่าช้ามาไม่ทัน
    ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง มีความก้าวหน้าทางการศึกษาและวิจัยพัฒนามาก แต่สำหรับโควิดแล้ว ยังคงมีปัญหาเรื่องการผลิตวัคซีนเพื่อใช้เองไม่เพียงพอ แม้กระทั่งการนำเข้าหรือสั่งจองวัคซีนป้องกันโควิดก็ยังมีปัญหา
    ล่าสุดพบว่าวัคซีน AstraZeneca ตามโครงการ COVAX ที่เกาหลีใต้จองไว้ และจะได้รับจำนวน 8.35 แสนเข็ม ที่คาดว่าจะมาปลายเดือนมิถุนายนนั้น ได้รับแจ้งว่า จะล่าช้าไปจนถึงปลายกรกฎาคมหรือต้นสิงหาคม
    วัคซีนจำนวนดังกล่าว ตั้งใจจะใช้ฉีดเป็นเข็มสองให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มหนึ่งไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ ต้องตัดสินใจว่า คงจะต้องฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer ให้กับบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มดังกล่าว
    โดยยังไม่มีผลการวิจัยอย่างเป็นทางการ ที่รับรองถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์จำเป็น แต่จะเกิดผลที่สำคัญทางการแพทย์ คือ ถ้าทำการติดตามผลข้างเคียง และติดตามระดับภูมิต้านทานหรือประสิทธิผลในการป้องกันโรคก็จะได้งานวิจัย น่าจะเป็นขนาดอาสาสมัครหรือตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของโลกเลยทีเดียว สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดสองเข็มคนละบริษัทกัน
    ทั้งนี้ได้เคยมีประเทศ ที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสองเข็มคนละบริษัทกัน แต่จำนวนยังอยู่ใน หลัก ร้อยคน เช่น สเปน อังกฤษ และแคนาดา

เกาหลีใต้จำใจฉีดวัคซีนโควิดต่างยี่ห้อ
    สำหรับประเทศไทย ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กำลังประกาศรับอาสาสมัคร เพื่อฉีดวัคซีนสองเข็มที่ต่างบริษัทกันด้วย
    ส่วนหลักวิชาการ ที่คาดว่าภูมิคุ้มกันน่าจะขึ้นดี สำหรับวัคซีนต่างบริษัท และควรจะต่างเทคโนโลยีกันด้วย คือ กรณีของ AstraZeneca ใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ จะมีการกระตุ้น T-Cell ได้ค่อนข้างดี
    ส่วนวัคซีนของ Pfizer ใช้เทคโนโลยี mRNA จะกระตุ้นระดับภูมิต้านทานได้ดี เมื่อใช้วัคซีนจากสองบริษัท และสองเทคโนโลยี จึงคาดว่าน่าจะเสริมกัน ให้มีระดับความสามารถในการป้องกันโรคเพิ่มสูงขึ้น
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Covax ซึ่งพบว่า โคแวกซ์ (Covax) ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายอันสูงส่งที่จะให้ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจนได้แบ่งวัคซีนกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากที่สุด
    โครงการโคแวกซ์ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2020 มุ่งสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ที่ก่อตั้งโดยบิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi)
    โคแวกซ์ หรือ Covax ย่อมาจาก Covid-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก
    อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโคแวกซ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :