ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน 

16 มิ.ย. 2564 | 02:05 น.

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม เดิมทีเป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ใส่ใจต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและชุมชน แต่ ณ วันนี้ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้กลายเป็นแนวทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยไปเสียแล้ว ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่คนเราได้รับผลกระทบจากสิ่งตัวเองทำ ทั้งจากภาวะโลกร้อน และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19

จากรายงานการเดินทางอย่างยั่งยืนประจำปี 2564 ของ Booking.com พบพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยที่น่าสนใจ ที่ระบุว่า นักเดินทางชาวไทย 94% คิดว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนคือเรื่อง ‘จำเป็น’ โดย 78% บอกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักเดินทางมีความต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ผู้เดินทาง 66% ยอมรับว่า รู้สึกหงุดหงิดหากที่พักไม่เอื้อให้พวกเขาสร้างความยั่งยืน เช่น ไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ หรือสิ่งของอำนวยความสะดวกที่สามารถรีไซเคิลได้ 66% ยอมรับว่าการแพร่ระบาด ได้เปลี่ยนทัศนคติให้พวกเขาลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตประจำวัน อาทิ การรีไซเคิล 50% และการลดขยะอาหาร 28% ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ
 

ผลสำรวจของ Booking.com ถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก ที่คนไทยและชาวโลกมีความตระหนักรู้ และลงมือปฏิบัติแล้ว กับการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม
 

การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ฟื้นฟูธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาสวยงาม และมีความสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์มากขึ้น “ดร.เพชร มโนปวิตร” นักวิชาการวิทยาศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมก่อตั้งเพจ REREEF ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเยอะจริงๆเพราะฉะนั้นการเปิดประเทศครั้งใหม่ การท่องเที่ยวแบบNew Normal ควรเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร ที่จะคงธรรมชาติที่สวยงามไว้ได้ ขยะมหาศาลที่เกิดขึ้น จะทำให้หมดไปได้อย่างไร และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดขยะใหม่ขึ้นมาทำลายภูมิทัศน์และทำลายธรรมชาติดันงดงาม ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวต้องร่วมมือกัน

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,687 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564