‘ไอยูยู’ครบ1ปีทุบธุรกิจประมงไทยอ่วม

29 เม.ย. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พิษไอยูยูลามประมงนอกน่านน้ำ เผยถอดใจทิ้งอาชีพแล้วกว่า 600 ลำ เหลือ 50 ลำยังจอดนิ่งไม่กล้าออกทะเล เสียหายแล้วกว่าพันล้าน ผวา พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่แรงงานผิดกฎหมายโทษหนัก ด้านห้องเย็น โรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่นภาคใต้ทยอยปิดกิจการ ขณะเอกชนยันส่งออกสินค้าประมงไปตลาดอียูปี 58 วูบหนัก ปัจจัยหลักจากถูกตัดจีเอสพี ผู้นำเข้าเชียร์ไทยทำดี ส่งซิกรอดใบแดง สมาคมฯทูน่าเตรียมยึดเวทีประชุมทูน่าโลกแจงคู่ค้า ผลงานรัฐ-เอกชนไทยแก้ไอยูยูรอบ 1 ปี

[caption id="attachment_48742" align="aligncenter" width="700"] สถิติการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปบุกตลาดทั่วโลก สถิติการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปบุกตลาดทั่วโลก[/caption]

จากที่สหภาพยุโรป(อียู)ได้ให้ใบเหลือง และให้เวลาไทยในการจัดระเบียบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู ฟิชชิ่ง)มาครบ 1 ปีเต็มเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา และจะมีการเจรจาเพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไทยในเดือนพฤษภาคม และตุลาคม 2559 ตามลำดับโดยที่ยังไม่มีการตัดสินว่าจะให้ใบแดงไทยหรือไม่นั้น อย่างไรก็ดีในข้อเท็จจริงเวลานี้ ไอยูยูยังส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องของไทยมากขึ้นทุกขณะ

 ประมงนอกน่านน้ำเหลือแค่ 50

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"นับตั้งแต่ไทยได้มีการแก้ไขปัญหาไอยูยู ฟิชชิ่งอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของอียู และยังมีคำแนะนำให้ไทยต้องปฏิบัติตามในหลายเรื่อง รวมถึงกรณีที่อินโดนีเซียปิดน่านน้ำเพื่อจัดระเบียบการทำประมงใหม่ส่งผลให้จำนวนเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยจากในอดีตเมื่อ 5 ปีก่อนที่ออกหาปลากว่า 650 ลำ ปัจจุบันยังเหลือเรือที่ยังประกอบกิจการอยู่กว่า 50 ลำเท่านั้น ซึ่งเรือที่เหลือเหล่านี้ได้ถูกเรียกกลับประเทศตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถออกไปทำการประมง ทั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีความเข้มงวด และมีโทษรุนแรงได้ ประเมินความเสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท

โดยปัญหาหลักที่พบคือ เรื่อง แรงงานต่างด้าว โดยฝ่ายกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ให้ใช้แรงงานต่างด้าว(สัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา) บนเรือ โดยต้องมีหนังสือเดินทาง(พาสปอร์ต)ที่ประเทศต้นทางออกให้ ขณะที่กระทรวงแรงงานบังคับให้ใช้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพูแทน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากลูกเรือเหล่านี้เวลาเกิดปัญหาเจ็บป่วย จะขึ้นฝั่งไปรักษาตัวในประเทศที่เข้าไปจับปลาไม่ได้ และถือเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามหลักการของไอยูยู

"นอกจากนี้ตาม พ.ร.ก.การประมงฉบับใหม่ยังห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำจากเรือแม่ ผมตั้งคำถามในที่ประชุม ศปมผ.(ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย) ว่า จะให้เรือไป-กลับ ค่าใช้จ่ายต่อเที่ยวไม่คุ้ม ที่สำคัญการกำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง แล้วโยนมาให้ผู้ประกอบการจ่ายวันละ 4 พันบาท ไม่ไหว ต้นทุนสูงมาก ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่ออกเสียงในที่ประชุม บอกว่ารับได้ ทุกวันนี้ทำไมไม่ออกไปทำการประมง ยังมีปัญหาหลายอย่างในเรื่องของแรงงาน เช่น ทุกเดือนจะต้องส่งแฟกซ์เอกสารสลิปเงินเดือนไปให้ที่เรือประมง เรือลำหนึ่งใช้คนประมาณ 30-40 คน เพิ่มค่าใช้จ่ายอีกเดือนละกว่า 400 บาท แล้วแรงงานพวกนี้ส่วนใหญ่จ่ายล่วงหน้าไม่ใช่รายเดือน"

 เมินใบแดง ยันไม่กระทบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาประมงไอยูยูของไทยมองว่ามีแนวทางที่ผิด เพราะไทยเป็นฝ่ายตั้งคำถามว่าจะให้ทำอะไรเพื่อให้อียูปลดใบเหลือง ทำอย่างนี้พอใจหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วกฎระเบียบบางอย่างไม่ต้องมีก็ได้ อย่างประเทศอียูใช้เวลาแก้ปัญหานี้เป็น 10 ปี ไม่ใช่ 1 ปีหรือ 2 ปี ที่สำคัญไทยต้องยึดตามหลักจรรยาบรรณในการทําการประมงอย่างมีความรับผิดชอบ (FAO, 1995) เป็นของไทยเอง ไม่ใช่ไปเอามาทั้งฉบับแล้วมาปฏิบัติ หากลามไปอุตสาหกรรมอื่นก็จะแย่กันหมด

"ทุกวันนี้หากไทยโดนใบแดง ชาวประมงไม่เดือดร้อน เพราะการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าทูน่ากระป๋องที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากเรือต่างชาติปีละกว่า 6 แสนตัน อีกด้านหนึ่งบริษัทแปรรูปอาหารทะเลรายใหญ่ 2-3 รายก็ได้ไปซื้อกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายในยุโรปมาระยะหนึ่งแล้ว"

 3 พันลำ ทำ VMS ขาดตลาด

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ กล่าวถึง ผลจากการที่กรมประมงได้อนุญาตให้เรือที่มีอาชญาบัตร(ใบอนุญาต)ผิดประเภทและเรือที่ไม่มีอาชญาบัตรจำนวน 3 พันลำ สามารถยื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และกลับเข้ามาในระบบใหม่ได้นั้น ล่าสุด นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สปท.120/2559 ลงวันที่ 21 เมษายน 2559 ถึง พล.ร.อ. ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)ในฐานะผู้บัญชาการ ศปมผ. โดยสาระสำคัญระบุว่า ยังมีเรือประมงจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถติดตั้งระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม (VMS) ได้ เนื่องจากเวลานี้อุปกรณ์มีไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงขอให้อะลุ้มอล่วยให้เรือดังกล่าวนี้สามารถออกไปทำการประมงได้เป็นกรณีพิเศษ

"ปัญหาระบบติดตามเรือ ที่ชาวประมงกังขา คือ กรณีเรือซ่อมบำรุง จะไปยกเลิกค่าบริการจ่ายรายเดือนก็ไม่ได้ มีปัญหาอีก โดนกล่าวหาว่าจะไปลอบทำการประมงผิดกฎหมาย จะหายไปเฉยๆ ก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เรือออกหรือไม่ออก ชาวประมงก็เสียค่าจ่ายรายเดือนละ 1 พันบาท ยิ่งทำให้ชาวประมงลำบากใจ"

 อุตฯประมงใต้เงียบเหงา

นายทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด และบริษัทในเครือ PFP มีที่ตั้งโรงงาน ณ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากที่อียูได้ให้ใบเหลืองไทยมาครบ 1 ปี รวมถึงกรณีที่อินโดนีเซียได้ปิดน่านน้ำเพื่อจัดระเบียบการทำประมงใหม่ ส่งผลให้เรือประมงนอกน่านน้ำ เรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงพื้นบ้านในจังหวัดสงขลา และในอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ต้องหยุดออกหาปลา ผลจาก พ.ร.ก.การประมงปี 2558 ที่เข้มงวดมาก ในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถทำได้ในทุกเรื่อง และจากโทษที่รุนแรงทั้งปรับและจำ ทำให้ไม่กล้าออกไปทำประมง ส่งผลกระทบทำให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำขาดแคลนวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ หลายโรงงานได้ปิดกิจการไปแล้ว ในส่วนของบริษัทได้เลิกไลน์ผลิตเนื้อปลาบด(ซูริมิ) และหันไปนำเข้าแทน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อโรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นลูกโซ่

ส่งออกอียูวูบจากถูกตัด GSP

ขณะที่ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวถึง การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ หรือสินค้าประมงของไทยที่ลดลงมาก (ดูตารางประกอบ) เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปตลาดอียู (ข้อมูลของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยระบุ การส่งออกสินค้ากุ้ง ปลาหมึก และปลาของไทยไปตลาดอียูในปี 2558 ลดลง 53%,19% และ 24% ตามลำดับ)ปัจจัยหลักมาจากการที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ในปี 2557-2558 ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน เช่น กุ้งสดแช่แข็งจากได้จีเอสพีเสียภาษี 7% เพิ่มเป็น 20% ทูน่ากระป๋อง จาก 21% เป็น 24% เป็นต้น

"การได้ใบเหลืองไอยูยูไม่มีผลกระทบเท่าเรื่องที่เราถูกตัดจีเอสพี ขณะที่ตลาดอียูคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกสินค้าประมงของไทยไม่ถึง 10% แต่ก็ถือมีความสำคัญ ทั้งนี้จากการคุยกันระหว่างภาคเอกชนของไทยกับสมาคมการค้าสินค้าสัตว์น้ำของอียู เขาชื่นชมการแก้ไขปัญหาประมงของไทยทำได้ดี และมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมาก ซึ่งเขาเชื่อว่าเราจะไม่ถูกให้ใบแดง ขณะที่ในการประชุมการค้าทูน่าโลกในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ(จัดทุก 2 ปี) ผมจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูในทุกมิติของไทยต่อประชุมด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559