กฎกระทรวงใหม่อาคารใหญ่ต้องมี"ลิฟท์-ที่จอดรถ"ดับเพลิง

05 มิ.ย. 2564 | 09:49 น.

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ กฎกระทรวงใหม่คุมอาคารสูง ต้องมีระบบความปลดภัยเพิ่ม ทั้งลิฟท์ดับเพลิง ที่จอดรถดับเพลิง-พยาบาล เครื่องปั๊มหัวใจไฟฟ้า มีผลเมื่อพ้น 180 วันนับแต่เผยแพร่ในราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ กฎกระทรวงใหม่คุมอาคารสูง ต้องมีระบบเพื่อความปลดภัยเพิ่ม ทั้งลิฟท์ดับเพลิง ที่จอดรถดับเพลิง-พยาบาล เครื่องปั๊มหัวใจไฟฟ้า มีผลเมื่อพ้น 180 วันนับแต่เผยแพร่ในราชกิจจาฯ
    

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 69 (พ.ศ.2564) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 38 ก ประจำวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ยกเลิกชื่อหมวด 2 ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนาม กฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
    

กฎกระทรวงใหม่นี้เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) จากเดิมที่ระบุ  หมวด 2  ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้ เปลี่ยนเป็น หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น 
    

รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ ต้องมีระบบหรือจัดทำพื้นที่เพื่อให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น อาทิ ต้องมีช่องทางเฉพาะสำหรับบุคคลภายนอกเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดในอาคารได้ทุกชั้น โดยอาจเป็นลิฟท์ดับเพลิง หรือช่องบันไดหนีไฟ จัดพื้่่นที่สำหรับรถดับเพลิง-รถพยาบาลเข้าจอดโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ข้อกำหนดลิฟท์ดับเพลิง ลิฟท์เคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยหรือผู้บาดเจ็บ เป็นต้น
    

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ไม่ได้กำหนดให้อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีพื้นที่สำหรับยานพาหนะในการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยหรือภัยพิบัติอย่างอื่น พื้นที่ติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ และลิฟต์สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยฉุกเฉิน ประกอบกับสมควรปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับช่องทางในการเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยและระบบลิฟต์ เพื่อประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจากอัคคีภัย ภัยพิบัติอย่างอื่น หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้บุคคลที่ใช้ประโยชน์ในอาคารได้รับความปลอดภัยยิ่งขึ้น

ที่มา กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๙ (พ.ศ. ๒๕๖๔) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒