MAY’S DAY

29 เม.ย. 2559 | 00:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ก็ทำให้คนไทยได้ชุ่มชื่นจิตใจ กลางฤดูร้อนสุดๆ

"น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ ขึ้นเป็นนักแบดมินตันสตรีมือ 1 ของโลก หลังจากตบซ้าย ตบขวา หยอดหน้า โยนหลัง ปราบคู่แข่งสำคัญๆ ระดับแนวหน้าในกีฬาแบดมินตันที่เก่าแก่และ Well Known กันในเอเชียและยุโรป กลุ่มอังกฤษ และประเทศในแถบ Scandinavia

ที่จำความได้ เราเคยได้ลุ้นตำแหน่งแชมป์โลก มือ 1 ของโลก เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ทั้งชายและหญิง เจริญ วรรธนะสิน ประเทือง ปัตตพงศ์ เป็นตำนานแห่งความหวังของคนไทย นำความสุขให้ชาติเอเชียเล็กๆ ที่เริ่มรู้จักกีฬาแบดมินตัน แม้จะไปไม่ถึงดวงดาว "แชมป์โลก" "มือ 1 ของโลก" แต่ก็หวุดหวิด

กีฬาแบดมินตันที่ริเริ่มในอังกฤษ เข้าสู่ประเทศไทย ผ่าน "เจ้าฟ้า" และ "ผู้มีอันจะกิน" ของเรา คุณหลวงธรรมนูญวุฒิกร (ประวัติ ปัตตพงศ์) นับเป็นผู้มีคุโณปการต่อวงการ ได้ชื่อว่า "บิดาแห่งวงการแบดมินตันของไทย" บ้านซอย "พร้อมมิตร" นับเป็นคอร์ตบุกเบิกที่สอนและฝึกฝนสร้างนักกีฬา ตั้งแต่ปี 2493

"เจ้าฟ้า" ที่ทรงส่งเสริมสนับสนุนมีตั้งแต่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ส่งนักกีฬาไทย ไปแข่งแบดมินตัน All England ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นการแข่งขันระดับสำคัญที่สุดของโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดกีฬาแบดมินตัน และทรงเล่นกับข้าราชบริพาร สมาชิกวงดนตรี "อส.วันศุกร์" ฯลฯ ที่คอร์ตเล็กๆ เรียบง่าย ประหยัด โดยอาศัยโถงประชุมโรงเรียนจิตรลดา ในเวลาตอนเย็นที่โรงเรียนเลิกแล้ว ไม่ได้ใช้งานเป็นคอร์ตเปิด มีลมเข้า ไม่ได้ป้องกันแน่นหนาอย่างคอร์ตปิดใหญ่ๆ มาตรฐานสากล

"เจ้าฟ้า" ชั้นสูงที่ผู้คนรักทั้งประเทศพระองค์นี้ ทรง "ปิดทองหลังพระ" กับกีฬาแบดมินตัน และอีกหลายประเภทกีฬา ฯลฯ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนส่งนักกีฬาแบดมินตัน ที่ทำชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น (ประมาณปี 2501) นายเจริญ วรรธนะสิน ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งหลังจบการศึกษากลับมา เจริญ วรรธนะสิน เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา ด้านธุรกิจ และด้านวิชาการ

มีเรื่องเล่าสนุกๆ เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ มศว. ประสานมิตร ได้ทรงเข้าแข่งขันกีฬาในนาม "ทีมพัฒนาศึกษาศาสตร์"

ทรงลงแข่งแบดมินตัน และแม้จะทรงพ่ายแพ้ แต่ก็ยังคงสนุกสนานที่น่ายินดีกว่านั้นคือหลังข่าวในพระราชสำนักออกเผยแพร่ ค่ำคืนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้าประมาณเที่ยงคืน ทรงชมเชย "ทูลกระหม่อมน้อย" ว่า "เก่ง ขนาดเล่นไม่เป็น ก็ยังสามารถแข่งกับเขาได้ ..."

และแม้เวลาจะล่วงเลยดึกดื่นแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเมตตา และทรงเอาเป็น "พระธุระ" ทรงสอนวิชาเล่นแบดมินตันให้ในค่ำคืนนั้นเอง

"เจ้าฟ้า" อีกพระองค์ที่ทรงอุปถัมภ์ช่วยเหลือกีฬาแบดมินตัน คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ("ท่านแม่" ของ "สามัญชน" ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการกีฬา หนังสือพิมพ์ ศิลปะ การดนตรี ฯลฯ) ทรงช่วยเหลือสนับสนุนทุนทรัพย์ส่งนักแบดมินตันไทยไปแข่งในต่างประเทศ และทรงประทานกำลังใจด้วยการเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันอย่างใกล้ชิด ทั้งในเอเชียและยุโรป พระองค์หญิงทรงสร้างสนามมาตรฐาน และก่อตั้งสโมสรแร็กเกตมิวเซียมขึ้นในปี 2510

ความสำเร็จของ "น้องเมย์" รัชนก อินทนนท์ ในวันนี้ นอกจากจะมาจากผู้มีอุปการะคุณในอดีตของชาติ ของสังคม ที่สร้างสมกันมา ในส่วนตัวของ "น้องเมย์" เอง นับว่าโชคดีที่ได้ไปอาศัยอยู่กับ "ผู้มีพระคุณ" "แม่ปุก" กมลา ทองกร ตั้งแต่เล็กๆ

"แม่ปุก" เป็นเจ้าของโรงงานทำขนมไทย "บ้านทองหยอด" ที่มีจิตใจประเสริฐ ด้วยความเป็นห่วงลูกๆ ของพนักงานโรงงานที่อาศัยวิ่งเล่นอยู่แถวนั้น จะโดนน้ำเชื่อมขนมหวานร้อนๆ ลวกเอาบาดเจ็บ "แม่ปุก" ออกคำปรารภว่า "ไปตามลูกๆ มาเล่นแบดฯให้หมด ดีกว่าวิ่งเล่นรอบโรงงาน ไปวันๆ เดี๋ยวจะเจ็บตัวกันซะ"

แค่นั้นยังไม่พอ สไตล์ "ที่เป็นคนทำอะไรจริง ไม่มีกั๊ก" "แม่ปุก" จ้างโค้ชอาชีพไทยมาสอน ต่อมาเล่นกับโค้ชจีน ประเทศมือ 1 ของโลก มาสอน

โค้ชที่ควรจารึกให้เกียรติชื่อ XIE ZHIHUA โค้ชที่รักประเทศไทยจนขอเปลี่ยนสัญชาติจากจีน

ชอบใจที่ความสำเร็จของ "น้องเมย์" จะสอน "เยาวชน" หรือ "ผู้ใหญ่" ในแง่ "ซ้อม"

ซ้อมหนัก 365 วันใน 1 ปี

(ทำนองเดียวกับความสำเร็จของ TIGER WOODS อดีตนักกอล์ฟมือ 1 ของโลก ที่ใช้เวลาในสนามซ้อมและห้อง GYM มากกว่านักกอล์ฟอื่นๆ)

มีแง่คิดของรัชนก อินทนนท์ ให้ศึกษาอีกมากในหนังสือ Autobiography "หยอดฝันไว้ที่ปลายคอร์ต" ของเธอ
หามาอ่าน แกล้มกับขนมหวานไทยๆ ของ "บ้านทองหยอด" น่าจะพอดับร้อนสุดๆ ของฤดูนี้ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,152 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2559