"จีน-ฟินแลนด์" กำลังทดลองวัคซีนโควิดชนิดสูดดมและแบบสเปรย์พ่นจมูก

27 มี.ค. 2564 | 18:18 น.

จีนและฟินแลนด์ เป็น 2 ประเทศที่มีข่าวยืนยันกำลังวิจัยและทดลองทางเลือกใหม่สำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา แต่มาในรูปแบบของวัคซีนชนิดสูดดมและสเปรย์พ่นจมูก

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีนรายงานว่า หน่วยงานกำกับดูแลยาของจีนได้อนุมัติการทดลองทางคลินิกแก่ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ชนิดสูดดม” ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) บริษัทเภสัชภัณฑ์ชั้นแนวหน้าสัญชาติจีน ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง

บริษัทแคนซิโนฯ ซึ่งปัจจุบันมีผลงานวัคซีนต้านโควิด-19 ในรูปแบบฉีดอยู่แล้ว เปิดเผยในรายงานที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 มี.ค.) ว่า สำนักบริหารเวชภัณฑ์แห่งชาติจีน (NMPA) ได้อนุมัติการทดลองทางคลินิกของวัคซีนชนิดสูดดมของบริษัทที่ร่วมพัฒนากับทางสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่งแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดสูดดมดังกล่าว ยังคง “อยู่ระหว่างการตรวจสอบยืนยัน”เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่

ก่อนหน้านี้ สำนักงาน NMPA อนุมัติการใช้งานวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดลูกผสมที่ผลิตโดยบริษัทแคนซิโนฯ ไปแล้ว 1 ตัวเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา โดยจัดเป็นวัคซีนชนิดใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพาตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของทางการจีน

รายงานข่าวระบุว่า ความก้าวหน้าในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของจีน ทำให้โครงการฉีดวัคซีนฟรีให้แก่ประชาชนมีความรุดหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับนานาประเทศ โดยล่าสุดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เปิดเผยว่า นับถึงวันพุธที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา จีนดำเนินการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาชนไปแล้วประมาณ 85.85 ล้านโดส

ส่วนอีกประเทศที่กำลังวิจัยนวัตกรรม วัคซีนแบบสเปรย์พ่นจมูก เช่นกัน ได้แก่ ฟินแลนด์ ซึ่งมีข่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า บริษัท โรโกเต แลบบอราทอรีส์ ฟินแลนด์ จำกัด (Rokote Laboratories Finland Ltd.) กำลังวิจัยและพัฒนาวัคซีนดังกล่าว

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดพ่นทางจมูกของบริษัท ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ และมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นฟินแลนด์ ในเบื้องต้นระบุว่า เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีส่งถ่ายยีน (gene transfer technology) ที่คิดค้นโดยคณะนักวิจัยของศาสตราจารย์ เซปโป อูลา-แฮร์ตตัวลา ซึ่งเทคโนโลยีแบบเดียวกันนี้เคยผ่านการทดลองทางคลินิกและประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้งโดยเป็นการทดลองใช้ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ

ศาสตราจารย์อูลา-แฮร์ตตัวลาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า มีบางประเทศที่เสนอมาว่าจะจัดสรรเงินทุนให้คณะนักวิจัยเพื่อนำวัคซีนไปใช้ในประเทศได้เป็นรายแรกๆ

"แม้ว่าการใช้วัคซีนในสหภาพยุโรป (อียู) จะต้องผ่านการอนุมัติขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เสียก่อน แต่วัคซีนของเราสามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเพื่ออนุมัติการใช้งานนอกยุโรปได้ โดยไม่ต้องรอการประเมินจากองค์การ EMA"

แถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า ผลลัพธ์การทดลองขั้นต้นบ่งชี้ว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกนี้มีประสิทธิภาพดีในสัตว์ทดลอง  บริษัทจะจัดการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ในอีกหลายเดือนข้างหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผลการป้องกันนั้นครอบคลุมบรรดาไวรัสโควิดกลายพันธุ์ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ฟินแลนด์"พัฒนาชุดตรวจโควิดแบบ “บ้วนปาก” ที่ง่ายกว่าแหย่จมูก และวัคซีนแบบสเปรย์พ่นจมูก

จีนเผยโฉม “รถฉีดวัคซีนโควิด” เพิ่มสปีดบริการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ล้อหมุน เม.ย.นี้

"จีน" เล็งจัดทำ "ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19" เพื่อให้ประชาชนใช้แสดงเวลาเดินทาง

ด่วน!! รายแรกของจีน ฉีดวัคซีนครบ2เข็ม แต่ยังติดโควิด