ศิลปะจากขยะทะเล

03 เม.ย. 2564 | 09:35 น.

 

“วอช อะชอร์” (Washed Ashore) เป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา องค์กรนี้ไม่เพียงใช้การจัดนิทรรศการศิลปะเป็นเครื่องมือกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนทั่วไปหันมาตระหนักถึงปัญหาการทิ้งขยะอย่างไร้ความรับผิดชอบที่สุดท้ายแล้วเมื่อขยะเหล่านี้ไหลลงสู่แหล่งนํ้าธรรมชาติมันก็ไปมีจุดจบในท้องทะเล สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ และเป็นภัยต่อบรรดาสัตวนํ้า แต่ยังนำขยะพลาสติกบางส่วน มาชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นเครื่องประดับ ที่นอกจากจะเป็นการนำของใช้เหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ยังช่วยตอกยํ้าให้ผู้คนตระหนักว่า การใช้สิ่งของต่างๆให้คุ้มค่านั้น เป็นเรื่องที่สำคัญ และช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างเรื่องปัญหาขยะล้นโลก ได้อย่างจริงจังหากทุกคนช่วยกัน

แองเจลา เฮเซลไทน์ พอซซี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของวอช อะชอร์ เปิดเผยว่า การใช้ชีวิตในเมืองริมชายฝั่งทะเลมาโดยตลอด ทำให้เธอเข้าใจดีว่าทะเลนั้นเป็นธรรมชาติที่มีพลังมหาศาลเพียงใด แต่ขณะเดียวกัน ขยะชิ้นเล็ก ๆที่มีจำนวนมหาศาลในท้องทะเลก็สามารถส่งผลกระทบต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้ รวมทั้งสัตว์ทะเลที่กินขยะพลาสติกเข้าไป ด้วยเหตุนี้ ทำให้แองเจลาตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขณะที่คนอื่นๆอาจจะเดินหาเปลือกหอยเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกขณะเดินเล่นริมชายหาด แต่แองเจลากลับเลือกที่จะเดินเก็บขยะที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาเกลื่อนอยู่บนผืนทราย  

 

ศิลปะจากขยะทะเล

ขยะที่ถูกนำมาคัดแยก ทำความสะอาด และประกอบร่างขึ้นใหม่เป็นผลงานศิลปะชิ้นใหญ่ยักษ์รูปสัตว์ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นถึงปัญหา “ขยะในทะเล” ซึ่งเธอเองพบเจออยู่ทุกวัน งานนิทรรศการครั้งล่าสุดของแองเจลามีผลงานรูปสัตว์ที่ทำจากขยะในทะเลจำนวนถึง 75 ชิ้นงานด้วยกัน ปัจจุบัน ทางองค์กรมีทีมงานอาสาสมัครมากกว่า 10,000 คน ช่วยกันเก็บขยะจากท้องทะเลได้แล้วนํ้าหนักมากกว่า 20 ตันนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 10 ปี  “ทีมของเราจะเก็บขยะไปเรื่อยๆ และจะทำงานศิลปะไปเรื่อยๆ จนกว่าทะเลจะไม่มีขยะให้เราเก็บได้อีก” แองเจลากล่าว  

ศิลปะจากขยะทะเล

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ศิลปะจากขยะทะเล

ส่วนสินค้าเครื่องประดับที่เธอผลิตจากขยะท้องทะเลนั้น มีตั้งแต่เครื่องประดับร่างกาย เช่น สร้อย กำไล ไปจนถึงเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เช่นโคมไฟ รายได้จากการขายนำเข้าเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่เหนือสิ่งอื่นใด แองเจลากล่าวว่า จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดคือการได้พูดคุยบอกเล่าผู้คนว่าสินค้าเหล่านี้มีที่มาอย่างไร การได้ปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่อง “ขยะ” และการ “งดสร้างขยะ” เป็นเป้าหมายที่เธอมุ่งหวังเป็นอันดับหนึ่ง   

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564