ลอยกระทงออนไลน์ 2563 ลดขยะ-ลดเสี่ยงโรค

31 ต.ค. 2563 | 08:15 น.

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ปชช.ลอยกระทงออนไลน์ 2563 ช่วงเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ชี้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม-ลดการเพิ่มปริมาณขยะได้

31 ตุลาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคโควิด 19 การจัดงานประเพณีลอยกระทงตามสถานที่ต่าง ๆ จะทำให้มีการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นจำนวนมากและใกล้ชิดกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคโควิด 19 ได้ ดังนั้น ประชาชนยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองจากโรคโควิด 19 โดยยึดหลักสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร และล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ กรมอนามัยแนะนำให้ประชาชนเลือกลอยกระทงออนไลน์ เพื่อลดเสี่ยงโรคโควิด 19 และช่วยลดปริมาณขยะ

 

สำหรับประชาชนที่ต้องการออกไปลอยกระทงนอกบ้าน ให้เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำที่จะไปลอย เช่น กระทงขนมปังหรือกระทงกรวยไอศกรีม ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลา กระทงหยวกกล้วยเหมาะกับแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น นำไปหมักทำปุ๋ย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ชม "พระจันทร์สีน้ำเงิน" ครั้งแรกในรอบ 76 ปี คืนนี้!

พาณิชย์แถลงด่วน แจงปม สหรัฐ ตัดสิทธิ GPS สินค้าไทยเพิ่ม

เกาะติด "พายุโคนี" ทวีกำลังเป็นพายุซุปเปอร์ไต้ฝุ่น 

คนละครึ่ง กระทรวงการคลังจ่อตัดสิทธิร้านค้าลงทะเบียนคนละครึ่ง 

 

เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ เก็บขนได้ทัน ไม่เป็นมลพิษต่อแหล่งน้ำ ป้องกันน้ำเน่าเสีย เช่น ทำจากหยวกกล้วย ใบตอง และไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำได้

นอกจากนี้ควรลดขนาดกระทงให้เล็ก เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า หากมาเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อน มาเป็นคู่หรือมากับแฟน ให้ลอยกระทงร่วมกันโดยใช้ 1 กระทง เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะ ลดมลพิษต่อแหล่งน้ำ และที่สำคัญผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังบุตรหลานไม่ให้คลาดสายตาเพราะอาจพลัดหลงหรือตกน้ำได้

ทั้งนี้ ในทุก ๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทง สิ่งที่ตามมาคือซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ ในปี 2562 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 502,024 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 483,264 ใบ หรือร้อยละ 96.3 และกระทงจากโฟม จำนวน 18,760 ใบ หรือร้อยละ 3.7 ซึ่งร้อยละของกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ย่อย สลายได้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว