โควิด-19พฤติกรรมคนเปลี่ยนเร่งธุรกิจปฏิรูปสู่มาตรฐานใหม่

24 เม.ย. 2563 | 10:56 น.

โควิด-19พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน  รูปแบบธุรกิจเดิมชะงักเร่งธุรกิจปฏิรูปสู่มาตรฐานใหม่ จับตาอีคอมเมิร์ซ-ชำระเงินออนไลน์ มาแรง ธุรกิจน้ำมัน นับถอยหลังสู่พลังงานยุคใหม่ 

นายณพวีร์   พุกกะมาน ผู้บริหารส่วนภูมิภาค จีเอ็มไอ เอดจ์ กลุ่มสถาบันการเงินจากประเทศอังกฤษและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space  สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ (CIS) เผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินอย่างรุนแรงในขณะนี้แล้ว  ยังส่งผลทำให้ทั่วโลกมีการจัดระเบียบครั้งใหญ่จนนำไปสู่มาตรฐานใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยหลายธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม กำลังปฏิรูปธุรกิจ หรือหยุดชะงัก (Disrupt) จากผลกระทบด้านเทคโนโลยี และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ธุรกิจเหล่านั้นล่มสลายไปเร็วขึ้น   ขณะเดียวกันมาตรฐานใหม่ที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสของธุรกิจยุคใหม่ รวมถึงการลงทุนในกิจการนั้นๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

กลุ่มธุรกิจยุคใหม่ที่ได้รับผลบวกอย่างชัดเจนมาก คือ ตลาดอีคอมเมิร์ซ  หรือตลาดซื้อขายออนไลน์ ที่กำลังจะกลายเป็นกระแสหลักของการค้าขายทั่วโลก  ภายหลังการค้าขายแบบดั้งเดิมหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ทำให้ตลาดออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตในช่วงวิกฤติโควิด-19 ของ AMAZON ALIBABA หรือ JD.com และเชื่อว่าหลังจากจบวิกฤติครั้งนี้ผู้บริโภคจะคุ้นชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นแน่นอน  ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ตลาดต่างประเทศจะเติบโต แต่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศจะเติบโตขึ้นชัดเจนเช่นเดียวกัน

โควิด-19พฤติกรรมคนเปลี่ยนเร่งธุรกิจปฏิรูปสู่มาตรฐานใหม่

การเปลี่ยนแปลงสู่มาตรฐานใหม่ถัดมา คือ การชำระเงินจะปรับเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ แทนวิธีการชำระเงินแบบเดิมที่ใช้เงินสด  ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ  บวกกับธนบัตรและเหรียญเงิน ต่างเป็นพาหะของเชื้อโรคอย่างดี อีกทั้งนโยบาย Lockdown ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการจับจ่ายซื้อขายด้วยเงินสด  ของตลาดนัดและห้างสรรพสินค้าที่ลดหายไป ทั้งนี้กลุ่มบริษัทที่ได้รับประโยชน์ตามกระแสดังกล่าวในระยะยาว  และมีความน่าสนใจแน่นอนว่าต้องเป็นบริษัทผู้ให้บริการชำระเงินที่ผู้บริโภคทั่วโลกคุ้นเคย อย่าง VISA, MASTERCARD และ PAYPAL ซึ่งทั้งสามบริษัทต่างมีนโยบายชัดเจนที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีการชำระเงินทางออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

“หากไปดูราคาหุ้นของ VISA, MASTERCARD และ PAYPAL ถือว่ามีความน่าสนใจมาก เพราะราคาหุ้นที่ผ่านมาได้ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก  แต่พอตลาดฟื้นและความกังวลเริ่มลดลง ราคาหุ้นต่างปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งทิศทางธุรกิจในระยะยาวทั้งสามบริษัทจะเติบโตโดดเด่น  แต่หากมองฝั่งเอเชีย  ต้องจับตาที่การขายไอพีโอของ Ant Financial บริษัทลูกของ ALIBABA ที่เป็นฟินเทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของแพลตฟอร์มชำระเงินที่มีคนใช้ทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน หากเข้าตลาดหุ้นจะเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจอย่างมาก”

โควิด-19พฤติกรรมคนเปลี่ยนเร่งธุรกิจปฏิรูปสู่มาตรฐานใหม่

สุดท้าย มองว่าธุรกิจน้ำมันแบบฟอสซิล ที่มีจุดอ่อน (Pain Point) ในด้านต้นทุนต่อหน่วยที่สูง เริ่มนับถอยหลังสู่พลังงานยุคใหม่ (New Energy) ที่สามารถแก้ไข Pain Point เดิมได้ ปรากฏการณ์นี้มาพร้อมกับความขัดแย้งของชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ขณะที่การ Lockdown ทั่วโลก กระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศอย่างรุนแรง มีการคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลากว่าสองปี การเดินทางระหว่างประเทศจึงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนเดิมก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งธุรกิจที่จะได้รับผลบวก คือ TESLA ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคนรู้จักมากที่สุด แม้ในเวลานี้บริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้ แต่ราคาหุ้นหลังโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้ที่จะกลับไปใกล้เคียงกับระดับเดิม ก่อนที่ตลาดหุ้นจะถูกเทขายอย่างหนักแล้ว

ด้านนายปุณยวีร์  จันทรขจร นักลงทุนคนรุ่นใหม่ และวิทยากรด้านการลงทุนที่ลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งหุ้น ค่าเงิน และสินค้าทางการเงินมากมาย กล่าวถึงมุมมองด้านการลงทุนว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นอาจเห็นการทยอยขายสินทรัพย์ เพื่อเก็บเงินสดไว้ก่อน ทั้งในการชำระหนี้และการรักษาสภาพคล่องบ้าง ขณะที่ราคาน้ำมันตลาด Future ในช่วงนี้ร่วงลงมาติดลบอย่างต่อเนื่อง เป็นผลกระทบจากความขัดแย้งของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกดดันราคาน้ำมันดิบ ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงมีผลบวกในด้านต้นทุนของผู้ผลิตที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่ง และธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่มองในเชิงจิตวิทยาอาจทำให้เกิดการเทขายสินค้าอื่นบนความผันผวนที่รุนแรงได้เช่นกัน

โควิด-19พฤติกรรมคนเปลี่ยนเร่งธุรกิจปฏิรูปสู่มาตรฐานใหม่

อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทย (SET) ในระยะสั้น 1 - 2 เดือน น่าจะพักฐานก่อน โดยจะยังไม่เห็นการทำจุดต่ำสุดใหม่ (New low) และอาจจะกลับขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1300 จุดได้  เพราะความแข็งแกร่งของไทยที่สูงกว่าเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)  ส่วนทิศทาง SET ระยะกลางและยาวไม่สามารถคาดการณ์ได้จากปัจจัยใหม่ๆ ที่เข้ามาทุกวัน  โดยจับตา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ คือกุญแจสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุนทั่วโลกหลังจากนี้ เพราะหากดอลลาร์แข็งค่า จะทำให้มีการเทขายสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อไปถือดอลลาร์แทน ทั้งในเชิงการเก็งกำไร และการประกันความเสี่ยง

“การลงทุนปีนี้ค่อนข้างคาดการณ์ยาก  จึงปรับกลยุทธ์การลงทุน เป็นการมองหาโอกาสเก็งกำไรระยะสั้นจากความผันผวนสูงของตลาด โดยให้เน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีสัญญาณกราฟทางเทคนิคที่แข็งแรงเป็นหลัก  เพราะขณะนี้การเคลื่อนที่ของสินทรัพย์เป็นไปตามสภาพคล่องมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน  และกลุ่มที่น่าสนใจจะมีแรงซื้อนำให้เห็นเองโดยไม่ต้องเดา อย่างไรก็ดียังได้กระจายเงินออกไปต่างประเทศด้วย เพื่อลดความเสี่ยง และอีกมุมก็เป็นการเพิ่มโอกาสทำกำไร ด้วยเพราะวิกฤติโควิด-19 กระทบต่อตลาดการลงทุนทั่วโลกที่ผันผวนเช่นเดียวกัน” นายปุณยวีร์ กล่าวปิดท้าย