ประกันสังคมขยายอุ้มตกงาน"ปิดตัวเอง"เหตุสุดวิสัย 

14 เม.ย. 2563 | 10:53 น.

ประกันสังคมขยายอุ้มลูกจ้างม.33 ตกงานจากนายจ้างปิดกิจการชั่วคราว หลังกฤษฎีกาชี้เหตุสุดวิสัยรวมกรณีกิจการปิดตัวเองจากผลกระทบโรคระบาด    เร่งเสนอครม.แก้กฎกระทรวงเพื่อออกประกาศให้มีผลบังคับ   

 

 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคม เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ดประกันสังคม วันนี้(14 เม.ย.2563) ว่า ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา   กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งกลับแล้วว่า การว่างงานจากหตุสุดวิสัย ให้รวมถึงกรณีที่ผู้ประกอบการปิดตัวเองลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยโควิด-19 ด้วย
     

ครม.จึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปปรับกฎกระทรวงแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรา 79/1 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมกรณีผู้ประกันตนม.33 จะได้รับการเยียวยาเงินว่างงานจากกองทุนประกันสังคมในกรณีที่สถานประกอบการปิดตัวเองจากโรคระบาดด้วย ทั้งนี้ รวมถึงให้ทางสำนักงานประกันสังคมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ และวินัยการเงินการคลังเสนอให้ครม.พิจารณา
     

นายสุทธิกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานจะเสนอที่ประชุมครม.วันพรุ่งนี้ (15 เมษายน 2563) เพื่อขอความเห็นชอบกฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ จากนั้นเมื่อมีประกาศกฎกระทรวงใหม่ในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการเรื่องการจ่ายทดแทนให้เร็วที่สุด
  

 

ทั้งนี้ คาดจะมีผู้ว่างงานมากกว่าล้านคน โดยเป็นกลุ่มผู้ว่างงานจากการลาออก-เลิกจ้างก่อนนั้นประมาณ 3-4 แสนคน ว่างงานจากที่รัฐสั่งปิดสถานที่-ถูกกักตัวกันโรคที่เปิดให้ลงทะเบียนรับประโยชน์ทดแทนแล้วอีกประมาณ 7-8 แสนคน และที่จะขยายการทดแทนถึงกลุ่มที่กิจการปิดตัวเองจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 อีกประมาณ 3.5แสนคน โดยจะทดแทนในอัตรา 62 % ของค่าจ้าง ซึ่งผู้ประกันตนและนายจ้างสามารถลงทะเบียนยื่นคำร้องกับสำนักงานประกันสังคมผ่านช่องทางออนไลน์รอไว้ได้เลย โดยจะไม่จำกัดว่าเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือภาคบริการ แต่ถือว่าผู้ประกันตนทุกกลุ่มมีสิทธิได้รับการเยียวยา ส่วนกลุ่มที่โดนตัดเงินเดือนแต่สถานประกอบการยังไม่ปิดจะยังไม่ได้รับการเยียวยา เพราะยังไม่เป็นกรณีว่างงาน
    

ด้านความพร้อมของกองทุนทดแทนการว่างงาน นายสุทธิกล่าวว่า จะพยายามดูแลและหมุนสภาพคล่องของกองทุนประกันการว่างงานให้ดีที่สุด ขณะนี้กองนี้มีเงิน 1.62 แสนล้านบาท ส่วนจะพอหรือไม่ไม่ต้องกังวล ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมในการแก้ปัญหา เวลานี้ขอให้กระทรวงแรงงานนำเรื่องเข้าครม.พิจารณาก่อน  
     

ส่วนการชดเชยจะจ่ายให้ไม่เกิน 3 เดือน โดยพิจารณาว่ากระทบเดือนไหนก็ให้รับเดือนนั้นไปก่อน และหากสามารถกลับมาทำงานแล้วก็ให้หยุดรับเงินชดเชย ซึ่งจะดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบ โดยจะเร่งให้สามารถเบิกจ่ายให้เร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก และนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องนี้ ส่วนการทดแทนรายได้ให้ผู้ประกันตน ม.33 กรณีรัฐสั่งปิดหรือถูกกักตัวกันแพร่เชื้อ จะพยายามเร่งให้ได้รับเงินเยียวยาภายในวันที่ 17 นี้ หรืออย่างช้าต้องไม่เกิน 20-21 เมษายนนี้
    

"กองทุนประกันการว่างงานเป็นกองทุนเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หากยังไม่ทุกข์มีงานทำมีเงินเดือนอยู่ ก็เฉลี่ยสุขไปให้คนที่เดือดร้อนกว่า ซึ่งเป็นหลักการของกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงานอยู่แล้ว ทั้งนี้ ยืนยันจะไม่กระทบกับเงินที่ผู้ประกันตนจะได้รับหลังเกษียณกรณีชราภาพ เนื่องจากเป็นคนละกองกัน"นายสุทธิกล่าวย้ำ
 

 

ด้านนางอรุณี ศรีโต ตัวแทนผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังเป็นห่วงว่า แม้การระบาดจะสงบลง แต่เศรษฐกิจทรุดน่าจะลากยาว หากถึงปลายปีนี้หรือต้นปีนี้ยังมีการเลิกจ้างมีคนตกงานต่อเนื่อง ตามที่ผู้แทนฝ่ายนายจ้างประเมินว่าจะตกงานหลายสิบล้านคน ถึงตอนนั้นกองทุนทดแทนการว่างงานจะมีเงินมาจ่ายชดเชยให้ผู้ประกันตนตามกฎหมายอยู่อีกหรือไม่ หากต้องขยายการคุ้มครองให้คนตกงานจากเหตุนายจ้างปิดงานเอง กรณีนี้ควรใช้ช่องทางให้นายจ้างจ่าย 75% ของค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถ้านายจ้างปฎิเสธบอกว่าไม่มีแรง ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปร้องกระทรวงแรงงานเพื่อเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลตามหน้าที่ จึงจะเป็นช่องทางที่ถูกต้องกว่า หรือหากรัฐจะใช้กลไกประกันสังคมไปดูแลคนว่างงานทางประกันสังคมก็ยินดี แต่รัฐต้องใส่เงินเข้ามา หรือถ้าจะให้จ่ายไปก่อนก็ต้องสัญญาว่าจะจ่ายให้ ไม่ใช่เอาเงินของกองทุนฯไปทำ เพราะเงินประกันสังคมเป็นของผู้ประกันตนกว่า 11.6ล้านคนที่จ่ายสมทบสะสมมา 30 ปีแล้ว