‘รถโรงเรียน’ เพื่ออนาคตของประเทศไทย

05 เม.ย. 2559 | 23:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

...เด็กวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า... โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะคิดว่าการเดินทางของเด็กไปโรงเรียนแทบจะไม่ค่อยสำคัญนัก เด็กๆ สามารถเดินทางไปถึงโรงเรียนได้ทันเวลาก็ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจกันไปวันหนึ่งๆ แต่เมื่อสังเกตเปรียบเทียบกันระหว่างช่วงเด็กเปิดเทอมและช่วงเด็กปิดเทอมแล้ว จะสังเกตเห็นความแตกต่างของการจราจรบนท้องถนนได้อย่างชัดเจน

ในปัจจุบันพบว่าวิธีการขับรถส่วนตัวไปส่งบุตรหลานที่โรงเรียนจะเป็นที่นิยมกันมาก บางคนขับรถยนต์ไปส่ง หรือบางคนก็ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่ง การขับรถยนต์ไปส่งกันมากจะก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณโรงเรียน และก่อปัญหามลพิษตามมาอีกด้วย ส่วนการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปส่งก็จะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กจะยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าเพราะสรีระร่างกายยังบอบบาง และยังมีความระมัดระวังน้อย

รถโรงเรียนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับการเดินทางที่สามารถใช้แทนการไปส่งบุตรหลานที่โรงเรียนด้วยตนเอง บางโรงเรียนยังมีนักเรียนใช้รถโรงเรียนกันไม่มาก แต่บางโรงเรียนก็มีนักเรียนใช้กันมากเกือบทั้งโรงเรียนเลยก็มี เช่น โรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯโรงเรียนในต่างจังหวัดมีแนวโน้มจะใช้รถโรงเรียนกันมากขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองในต่างอำเภอนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในตัวอำเภอกันมากขึ้น

รถโรงเรียนที่มีในบ้านเราค่อนข้างหลากหลายรูปแบบ เช่น รถกระบะสองแถว รถตู้ รถมินิบัสหรือรถบัสขนาดใหญ่ ค่าบริการมีหลายราคาตั้งแต่ไม่ถึงหลักพันบาทต่อเดือน ถึงหลักหมื่นบาทต่อเดือน ขึ้นกับระดับคุณภาพการให้บริการ

มาตรฐานรถโรงเรียนตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ประกอบการจะต้องควบคุมดูแลและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน และต้องจัดหารถที่ได้มาตรฐานมาใช้งาน พร้อมทั้งจัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก และเหล็กชะแลง รวมถึงมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไว้ภายในรถ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน เมื่อมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียนซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เมื่อนักเรียนขึ้นหรือลงจากรถ ผู้ดูแลจะคอยตรวจสอบในใบรายชื่อและนับจำนวนเด็ก ส่วนผู้ขับรถรับส่งนักเรียนต้องไม่เป็นผู้มีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถและเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรือใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลที่ได้รับอนุญาตมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

โรงเรียนที่มีค่าบริการรถโรงเรียนแพงส่วนใหญ่แล้วจะมีมาตรฐานสูง ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก เพราะเมื่อเด็กนักเรียนขึ้นไปบนรถจะมีเข็มขัดนิรภัยให้คาดทุกที่นั่ง ภายในรถมีระบบกล้องวงจรปิด มีอุปกรณ์ในการติดตามรถ มีอุปกรณ์ตรวจเช็กสถานะของนักเรียนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีระบบบันทึกความเร็วรถ คนขับรถจะขับอย่างสุภาพและนิ่มนวล บางโรงเรียนกำหนดให้ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับรถ ก่อนปฏิบัติงานทุกเที่ยว ว่าผ่านเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้หรือไม่ จะเห็นได้ว่าหากทางผู้ประกอบการจัดเตรียมบริการรถโรงเรียนอย่างมีคุณภาพแล้ว จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงมาก ประเทศไทยยังไม่มีการอุดหนุนการจัดการรถโรงเรียน ผู้ปกครองเป็นผู้แบกรับต้นทุนทั้งหมด ทำให้ค่าบริการรถโรงเรียนที่มีคุณภาพจึงยังมีราคาค่อนข้างแพง บางแห่งมีค่าบริการแพงกว่าค่าเทอมเสียอีก

ลองมาดูตัวอย่างรถรับส่งนักเรียนคันหนึ่งซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รถโรงเรียนคันนี้มีอายุการใช้งานมาแล้ว 4 ปี ขนาด 15 ที่นั่ง ให้บริการรับส่งนักเรียนจำนวน 42 คน โดยแบ่งเที่ยวการให้บริการในช่วงเช้า 2 เที่ยว และตอนเย็น 2 เที่ยว รวมระยะทางที่วิ่งในแต่ละวันเพื่อรับส่งนักเรียน 100 กิโลเมตร ได้รับค่าบริการรวม 47,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่มีต้นทุนรวมถึง 39,753 บาทต่อเดือน หากใช้งานรถรับส่งเฉพาะนักเรียนในช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น ผู้ประกอบการจะมีกำไรเพียง 7,247 บาทต่อเดือน เฉลี่ยแล้วค่าบริการรถรับส่งนักเรียนคนละ 1,000 บาทเศษ จะสังเกตได้ว่าจำนวนนักเรียนที่โดยสารในแต่ละเที่ยวค่อนข้างแออัดเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งไม่ปลอดภัยเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ หากเป็นเด็กเล็กรถตู้บางคันยัดเด็กถึง 40 คนในเที่ยวเดียว บางคันก็ใช้รถเก่าเพื่อประหยัดต้นทุน ในความเป็นจริงแล้วการรับเด็กนักเรียนจำนวนมาก ควรใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ขึ้น แต่ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

ยังมีเหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดซ้ำๆ เช่น เด็กตกหล่นจากรถตู้ระหว่างโดยสาร เนื่องจากไม่มีผู้ดูแลควบคุมเด็กประจำรถ หรือกรณีเด็กถูกลืมไว้ในรถโรงเรียนจนเสียชีวิต ตัวอย่างเมื่อเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2556 และเดือนกรกฎาคม 2557 ทั้ง 3 ครั้งเป็นเด็กอนุบาล ถูกลืมไว้ในรถโรงเรียนที่จอดตากแดดเป็นเวลานานจนเด็กหมดสติ เหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งนี้เกิดจากความสะเพร่าของคนขับรถและผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ในปัจจุบันมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบนักเรียนบนรถได้ แต่ก็จะทำให้ต้นทุนการจัดการรับส่งนักเรียนสูงขึ้นอีก

ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาควบคุมดูแลรถโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่าการนั่งรถโรงเรียนเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่รุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตต่ำกว่าการขับรถยนต์ไปส่งเองถึง 7 เท่า และในสหรัฐอเมริกาเองก็ระบุว่ามีความปลอดภัยกว่ารถยนต์ ทั้งๆ ที่ค่าบริการก็ไม่แพง ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือประเทศแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้ล้วนแต่ให้การอุดหนุน (Subsidy) การเดินทางโดยภาครัฐเพื่อแบ่งเบาค่าบริการรถโรงเรียนที่ผู้ปกครองจะต้องแบกรับไว้บางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

แม้ในสังคมของเราจะมีคนที่มีระดับรายได้ที่แตกต่างกันมากก็ตาม แต่บริการขั้นพื้นฐานก็ควรที่จะได้รับเสมอภาคกัน ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ได้กำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับเช่นเดียวกับเด็กไทย แต่แตกต่างกันที่เขามองว่าการศึกษาภาคบังคับจะต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อรองรับการเดินทางของเด็กระหว่างบ้านกับโรงเรียนไว้ด้วย ดังนั้น รัฐบาลของเขาจึงจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่ออุดหนุนการจัดการระบบรถโรงเรียนที่มีคุณภาพไว้รองรับการเดินทางของเด็กด้วย ประเด็นข้อคิดที่น่าสนใจ คือ ทำอย่างไรเราถึงมีรถโรงเรียนที่มีคุณภาพ และมีค่าบริการที่ไม่แพง (หรือให้บริการฟรี) ให้ลูกหลานของเราได้ใช้ ดังหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว

เป็นไปไม่ได้ที่ภาครัฐจะมุ่งเพียงแค่จัดระเบียบและกวดขันรถโรงเรียน แผนระยะสั้นที่ควรจะทำควบคู่กันไป ได้แก่ การอุดหนุน (Subsidy) รถโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อให้สอดรับกับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเดินทางไปโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และสำหรับแผนระยะยาว ควรเพิ่มนโยบายการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่ที่นักเรียนสังกัดแต่ละอำเภอให้เป็นที่น่าไว้วางใจของผู้ปกครอง เพื่อผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องให้บุตรหลานเดินทางไกลๆ เพื่อเข้าไปเรียนในตัวเมือง ดังเช่นทุกวันนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559