5 ยุทธวิธีแก้ปัญหา ทีมงานแตกแยก ทะเลาะกันไม่จบ

29 ก.ค. 2562 | 10:21 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากประเด็นคำถาม “คนภายใต้การดูแลของผม แบ่งเป็นทีม แต่ละทีมก็มี Ego เวลาเกิดปัญหามักโทษว่า ฉันไม่ผิด แกนั่นแหละผิด ทำให้การทำงานสะดุดและมีความรู้สึกแย่ๆ ต่อกัน ผมเองเป็นกลาง พยายามที่จะไม่หาว่าใครผิด แต่เน้นแก้ปัญหาหรือปรับกระบวนการทำงาน หลายปัญหาเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจที่แตกต่างกัน แต่สถานการณ์เลวร้ายลง เพราะน้องๆ ในทีมอดไม่ได้ที่จะตั้งแง่ใส่กัน ทั้งที่ไม่ได้เป็นทีมใหญ่โตอะไร แค่กลุ่มละ 4-5 คนเท่านั้น ยังแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า เจอสภาพแบบนี้ ทำไงดีครับ”.... “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และ กรรมการบริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จํากัด ให้คำแนะนำว่า 

1. ความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูด/อธิบายน้อยเกินไป ทำให้คนไม่เข้าใจ, การพูด/อธิบายมากเกินไป ทำให้คนสับสน, การพูดต่อๆ กันไป เสริมแต่งคนละนิดละหน่อย ข้อความสุดท้ายจึงผิดเพี้ยนไปจากข้อความแรกมาก เป็นต้น ดังนั้นเน้นการสื่อสารให้มาก หาโอกาสให้ทั้งสองทีมได้พูดคุยกันเสมอๆ ผ่านหลากหลายช่องทาง

 

2. บางทีขัดแย้งกันเพราะเป้าหมายในการทำงานไม่สอดคล้องกัน เช่น ฝ่ายขายมีเป้าหมายต้องขายให้ได้เยอะๆ ส่วนฝ่ายบัญชีมีเป้าหมายคือต้องเก็บเงินให้ได้และมีความเสี่ยงน้อยๆ เวลาทำงานจึงเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ลองกำหนดตัวชี้วัดที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน (Common KPI) เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อให้ทั้ง 2 ทีม ได้มีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน

3. ปัญหาอาจเกิดขึ้นเพราะสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน เช่น คนหนึ่งละเอียดมาก อีกคนก็มองแต่ผลลัพธ์โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายละเอียด เมื่อทำงานด้วยกัน จึงขัดแย้งกัน ทางออกคือให้ความรู้เรื่องสไตล์ในการทำงานที่แตกต่าง เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงข้อด้อยของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะใช้จุดเด่นของผู้อื่น

4. หัวหน้าขัดแย้งกัน ลูกน้องเลยไม่ถูกกันไปด้วย สุดท้ายกลายเป็น 2 แก๊งค์ทะเลาะกัน ทางแก้คือให้หัวหน้าของทั้ง 2 ทีมนั่งลงคุยกันอย่างเปิดอก หาทางปรับจูนวิธีคิดและวิธีการทำงานร่วมกัน

5. ความขัดแย้งบางอย่างอาจเริ่มต้นมาจากประเด็นเรื่องส่วนตัว แล้วลุกลามต่อเนื่องมาถึงการทำงาน หากเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะเข้าใจผิดต่อกันหรือมีเรื่องบาดหมางที่พอจะเคลียร์กันได้ ก็เรียกมาพูดคุยตกลงกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพูดคุยตกลงกันได้จริงๆ ก็ให้เอางานเป็นที่ตั้ง เราคงทำให้คนทุกคนรักกันไม่ได้ แต่หัวใจสำคัญคือ “งานต้องไม่เสีย” ถ้าเสียงาน ก็ต้องว่าไปตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป

หัวใจสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันคือ ค้นหาสาเหตุให้พบก่อน แล้วจึงค่อยลงมือแก้ไข อย่าสั่งยาโดยไม่ได้วินิจฉัย เป็นอันขาด