‘สักสี สักศรี’ เพราะการสักเป็นมากกว่าเส้นสีหรือลวดลาย

22 ก.ค. 2562 | 05:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

‘สักสี สักศรี’ เพราะการสักเป็นมากกว่าเส้นสีหรือลวดลาย

เพราะการสักเป็นมากกว่า เส้นสีหรือลวดลาย 

รู้หรือไม่ว่าคนโบราณสักเพื่อบ่งบอกอะไร? สักเพื่อขนบประเพณี สักเพื่อแสดงความเข้มแข็ง สักเพื่อความขลังหรือ เพื่อความสุนทรียะ

การสักร่างกายเป็นวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน เช่น ชาวเมารีนิวซีแลนด์ เชื่อว่าการสักจะช่วยคุ้มครองความเป็นหนุ่มสาว ชาวมายาของเม็กซิโกเชื่อว่าการสักบ่งบอกถึงเครื่องหมายเกียรติยศ ขณะที่ชาวไทยสมัยก่อนเชื่อว่า สักเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ 

การสักลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่งในสังคมไทย ซึ่งสักยันต์ไม่ใช่แค่เรื่องคงกระพันชาตรีแต่ยังเชื่อมโยงไปสู่ความเชื่อในเรื่องเมตตามหานิยม โดยได้ผสมผสานความเชื่อเรื่องอักขระศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธเข้าไปด้วย สำหรับปัจจุบันการสักบนเรือนร่างในไทยเฟื่องฟูแพร่หลายจนกลายเป็นธุรกิจ

จากที่ได้พูดคุยกับ “พระอาจารย์ศุภชัยชยสุโภ” ผู้เก็บรักษาสมุดบันทึกลวดลายในการสักขาลายของล้านนา เล่าว่า โจทย์ในการสักสำหรับปัจจุบันมุ่งเน้นความสวยงามเป็นหลัก โดยลวดลายที่เกิดขึ้นหลักๆ จะมาจากการผสมผสานจากหลายสื่อ แต่ในอดีตการสักจะยึดจากลายที่เก็บสืบทอดกันมา โดยสมุดบันทึกลวดลายในการสักขาลายของล้านนาที่นำมาจัดแสดง ได้ไปเรียนรู้การสักขาลายจากอาจารย์ละดา จากการเป็นผู้ช่วยดึงหนัง วางโครง การพยาบาล การรักษาแผล และเรื่องเล่าต่างๆ แล้วนำมาฝึกเขียนดู จากนั้นนำมาสืบสานและรักษาการสักขาลายของล้านนาให้คงอยู่สืบไปจวบจนปัจจุบัน

การสักขาลายในปัจจุบัน อาจจะไม่คุ้นหูมากนักเนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้ที่รักและหลงใหลในศิลปะชนิดนี้เฉพาะกลุ่ม และถ้าหากให้แบ่งการสักอย่างเข้าใจง่าย สามารถแบ่งออกเป็น สักบนและสักล่าง โดยการสักบนนั้น คือสักตั้งแต่เอวขึ้นไปทั้งแขนและศีรษะ นิยมสักแบบคงกระพันและเมตตามหานิยม ส่วนสักล่าง คือ การสักตั้งแต่ขาลงไปถึงเท้า ซึ่งสักที่กล่าวมาข้างต้นอย่างการสักขาลายถึงจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ โดยการสักขาลายนั้นส่วนใหญ่ลวดลายจะเป็นสัตว์ต่างๆ ในกรอบสี่เหลี่ยมหรือมน ตั้งแต่เอวลงมาถึงขา ไม่ใช่การเสกคาถาหรือใช้ตัวยาศักดิ์สิทธิ์ สักเพื่อความอดทน กล้าหาญและความเป็นลูกผู้ชายชาตรี อีกหนึ่งนัยมีความเชื่อว่าจะป้องกันสัตว์มีพิษ

‘สักสี สักศรี’ เพราะการสักเป็นมากกว่าเส้นสีหรือลวดลาย

เรื่องราวเกี่ยวกับรอยสักในรูปแบบต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการภายใต้ชื่อ “สักสี สักศรี Tattoo COLOR, Tattoo HONOR” โดยทางมิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เป็นแม่งานหลัก เพื่อบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรม ผ่านศิลปะการสักลายบนเรือนร่างของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไท่หย่า (Atayal) ชาวไผวัน (Paiwan) จากไต้หวัน และชาวล้านนาไทยนำเสนอผ่านโซนจัดแสดงวัตถุและภาพที่หาชมได้ยาก อาทิ หุ่นไม้แกะสลัก มือไม้แกะสลัก ภาพประวัติศาสตร์การสักของกลุ่มชาติพันธุ์ จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการสัก รวมถึงกิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อป 

ซึ่งทางรศ.บุญสนอง รัตนสุทรากุลรักษาการ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เผยว่า ศิลปะการสักลาย ในการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เพราะการสักลายไม่เพียงแต่เพื่อความสุนทรียะเท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญที่กล่าวถึงเกียรติยศ และความภาคภูมิใจ ในขนบธรรมเนียมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในประเทศไทย และไต้หวันโดยผู้ที่สนใจต้องรีบไปชมกันหน่อย เพราะเปิดให้ชมฟรีตั้งแต่วันนี้ถึง 27 ตุลาคม 2562 นี้ ณ มิวเซียมสยาม

เส้นสายของหมึก การลงอักขระที่สืบทอดลวดลายจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมที่ควรรักษา รื้อฟื้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึงรอยสักที่แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีแค่ความสวยงามแต่ยังบ่งบอกถึงเกียรติยศของสังคมนั้นๆ ได้อย่างงดงาม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,489 วันที่ 21-24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

‘สักสี สักศรี’ เพราะการสักเป็นมากกว่าเส้นสีหรือลวดลาย