ถอดบทเรียนโครงการปลูกป่าชายเลน ชูโมเดลความสำเร็จ 3 ประสาน ดูแลป่ายั่งยืน

02 พ.ค. 2562 | 09:27 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมกับ บริษัท โกลบอลแอคท์ จำกัด ติดตามและประเมินผล โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน”อนุรักษ์ ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าให้กับประเทศไทย ชูโมเดลความสำเร็จทำงาน 3 ประสาน ภาครัฐ เอกชน ชุมชน ร่วมแก้ปัญหาสังคม และทำอย่างต่อเนื่อง

ถอดบทเรียนโครงการปลูกป่าชายเลน ชูโมเดลความสำเร็จ 3 ประสาน ดูแลป่ายั่งยืน

‘ป่าชายเลน’ เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญและเชื่อมโยงโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก ซีพีเอฟในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เครือข่ายภาคประชาสังคม ดำเนินโครงการ”ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ใน 5 พื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย คือ จังหวัดสมุทรสาคร ระยอง สงขลา พังงา และชุมพร ซึ่งระหว่างปี 2557-2561 ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่รวม 2,388 ไร่

นางสาวสาริสา กนกธัญรัชต์ ผู้จัดการโครงการถอดบทเรียน“โครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลนของซีพีเอฟ” โดยบริษัท โกลบอลแอคท์ จำกัด กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน เป็นการบูรณาการการทำงาน 3 ประสาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยซีพีเอฟเข้ามามีส่วนร่วมประสานความร่วมมือในการทำงาน นอกจากนี้ เป็นโครงการที่ซีพีเอฟได้พัฒนาการทำงานมากกว่าแค่งานรับผิดชอบต่อสังคม แต่เป็นการทำงานในระดับการแก้ปัญหาสังคม เกิดการยอมรับจากภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐส่วนท้องถิ่น คณะทำงานชุมชนในพื้นที่ต่างๆ มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเกิดผลสำเร็จจริง

“การดำเนินโครงการฯในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาการทำงานมาไกลกว่าแค่งานรับผิดชอบต่อสังคม(Corporate Social Responsibility)ในแบบเดิม แต่กำลังเข้าไปทำงานในระดับการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในระยะยาว ที่ต้องอาศัยเวลา องค์ความรู้ ทักษะ และงบประมาณในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ” ผู้จัดการโครงการถอดบทเรียนโครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน กล่าว

ผู้จัดการโครงการถอดบทเรียนโครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานตามยุทธศาสตร์ในโครงการ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พบว่ากระบวนการที่ประสบความสำเร็จ คือ กระบวนการปลูกป่าและดูแลป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการถอดบทเรียนในครั้งนี้พบว่าพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนที่มีความโดดเด่นมากที่สุด คือ พื้นที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เนื่องจากบางหญ้าแพรกมีความท้าทายต่อการปลูกป่าด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะสูง แต่ซีพีเอฟสามารถอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ได้สำเร็จ

ถอดบทเรียนโครงการปลูกป่าชายเลน ชูโมเดลความสำเร็จ 3 ประสาน ดูแลป่ายั่งยืน

นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงการฯทำให้เกิดกระบวนการส่งเสริมอาชีพชุมชน ซึ่งซีพีเอฟและคณะทำงานชุมชนมีเป้าหมายร่วมกันในระยะต่อไป คือ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและให้บทบาทการตัดสินใจอยู่ที่ชุมชน เป็นการขับเคลื่อนโดยชุมชน โดยมีซีพีเอฟเป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุน โดยพื้นที่ที่มีการส่งเสริมอาชีพชุมชนโดดเด่น คือ พื้นที่ ต.ชะแล้ จ.สงขลา และ พื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง ที่มีการสร้างรายได้จากอาชีพเกิดขึ้นจริงแล้ว และอยู่ในขั้นของการพัฒนาและต่อยอดสู่นวัตกรรมและธุรกิจเพื่อสังคม สร้างการกระจายอาชีพและรายได้สู่ชุมชนในวงกว้าง

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสนับสนุนพนักงานให้ร่วมเป็นเครือข่ายจิตอาสาอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ นอกจากนี้ ได้ผสานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals :SDGs) เข้ากับการดำเนินงานของบริษัทภายใต้กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน อาทิ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลนที่เชื่อมโยงกับ SDGs ในประเด็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (เป้าหมายที่13) การอนุรักษ์และใช้มหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 14) และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 17)