โปรดเกล้าฯ แก้ไขกฎหมายทะเบียนราษฎร ผู้ถูกหมายจับ 180 วัน จับตัวไม่ได้ ต้องถูกคัดชื่อออก

15 เม.ย. 2562 | 07:10 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่


ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ "พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562" ผู้ถูกศาลออกหมายจับ ถ้า 180 วัน จับตัวไม่ได้ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ แจ้งให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางทราบ และให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางดำเนินการให้นายทะเบียนผู้รับแจ้ง ย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้าน มาอยู่ "ทะเบียนกลาง"


จากเว็บไซต์พระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 เม.ย. 2562 ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

พระราชบัญญัตินี้ มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 38 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การทะเบียนราษฎรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความเป็นธรรม การอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย และการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชน ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า "พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับ 3) พ.ศ. 2562"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 8/2 แห่งพระราชบัญญติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับ 2) พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตาม (1) จะมอบอำนาจให้รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการทะเบียนกลาง หรือจะมอบอำนาจให้ข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดด้วยก็ได้"

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับ 2) พ.ศ.2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน หรือ การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ความมั่นคงในราชอาณาจักร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะอนุมัติให้ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐ เชื่อมโยงข้อมูลที่ปรากฎในทะเบียนอื่นนอกจากทะเบียนตามวรรคสองเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด"

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 16 ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่ผู้มีสัญชาติไทย หรือ คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู้ในราชอาณาจักร และบุคคลที่ได้จดทะเบียนคนเกิด ณ สถานทูตไทย หรือ สถานกงศุลไทย ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเลขประจำตัวให้เป็นไปตามระเบียนที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องแยกระหว่างผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วย"

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19/2 และมาตรา 19/3 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2434 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียยนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 19/2 เมื่อได้รับแจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 แล้ว ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งดำเนินการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แล้วดำเนินการต่อไปตามมาตรา 20 ทั้งนี้ ให้ผู้พบเด็ก ผู้รับเด็กไว้ และผู้แจ้งการเกิด ให้ความร่วมมือกับนายทะเบียนผู้รับแจ้งในการดำเนินการพิสูจน์ตามที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งร้องขอ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน เว้นแต่เด็กนั้นเมื่อมีอายุครบ 5 ปีแล้ว ให้นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น ออกบัตรประจำตัวให้แทน ตามระเบียนและภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

ผู้ซึ่งได้รักการจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีหลักฐานแสดงว่าได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีคุณสมบัติอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญญชาติไทยได้ และเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเห็นว่า ผู้ยื่นคำร้องมีสถานะถูกต้องตามเงื่อนไขและมีคุณสมบัติครบถ้วนดังกล่าว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหมาดไทยประกาศให้ผู้นั้นมีสัญชาติไทย ทั้งนี้ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และให้ถือว่าผู้นั้นมีสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีมีประกาศ

ระยะเวลา 10 ปี ตามวรรคสอง ให้นับแต่วันที่จัดทำทะเบียนประวัติ หรือ ออกเอกสารแสดงตัว เว้นแต่จะมีหลักฐานอันชัดแจ้งแสดงว่า ได้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรมาก่อนหน้านั้น ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด ก็ให้นับวันที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรตามที่ปรากฎจากหลักฐาน

ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามวรรคสอง ถ้าภายหลังปรากฎหลักฐานว่า มีกรณีไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข หรือ ขาดคุณสมบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศเพิกถอนการให้สัญชาตินั้นโดยพลัน

ให้นำความในมาตรานั้นมาใช้บังคับกับบุคคลที่เคยอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐ หรือ หน่วยงานเอกชน ตามมาตรา 19/1 แต่หน่วยงานดังกล่าวได้อนุญาตให้บุคคลอื่นรับไปอุปการะ และบุคคลที่มิได้แจ้งการเกิดตามมาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 ซึ่งได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 19/3 หรือ ขอเพิ่มชื่อตามมาตรา 37 แต่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ด้วยโดยอนุโลม


... สามารถอ่านฉบับเต็มได้จาก "พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562" ฉบับเต็ม


อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 13 ได้ระบุว่า ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ ของมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

"ในกรณีที่ศาลออกหมายจับผู้ใดตามคำร้องขอของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ หรือในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ ได้รับแจ้งจากศาลให้จับกุมผู้ใดตามหมายจับที่ศาลออกเอง ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาภายใน 180 วันนับแต่วันที่ศาลออกหมายจับ ให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ แจ้งให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางทราบ และให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางดำเนินการให้นายทะเบียนผู้รับแจ้ง ย้ายผู้นั้นออกจากทะเบียนบ้าน และเพิ่มชื่อและรายการของผู้นั้นไว้ในทะเบียนบ้านกลาง และให้หมายเหตุไว้ในรายการของบุคคลนั้น ว่า อยู่ในระหว่างการติดตามตัวตามหมายจับด้วย การหมายเหตุดังกล่าวมิให้ถือว่าเป็นการจัดเก็บข้อมูลตามมาตรา 13(2)

ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางตามวรรคสอง ถ้าผู้นั้นประสงค์จะย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลาง ผู้นั้นต้องมาแสดงตนต่อนายทะเบียนที่จัดทำทะเบียนบ้านกลางนั้น พร้อมทั้งหลักฐานอันแสดงว่า หมายจับนั้นได้ถูกเพิกถอน หรือ ได้มีการปฏิบัติตามหมายจับนั้นเสร็จสิ้นแล้ว

การแจ้งยื่น หรือ ส่งหนังสือ หรือ เอกสาร ให้ผู้ถูกออกหมายจับ หรือ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางตามวรรคสอง ถ้าได้แจ้งยื่นหรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น หรือ ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนา หรือ ที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรที่ปรากฏครั้งสุดท้าย ก่อนย้ายมาในทะเบียนบ้านกลาง ให้ถือว่าได้แจ้งยื่นส่ง หรือ ปิดโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้นั้นได้รับทราบแล้ว"

สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ : "พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562" ฉบับเต็ม