กกต.ต้องโปร่งใสอิสระ ฟื้นความเชื่อมั่นประชาชน

20 ธ.ค. 2561 | 08:43 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

บท01 ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561 มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกรูปแบบบัตรเลือกตั้งที่เป็นรูปแบบสมบูรณ์ คือมีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อ และโลโกพรรคการเมือง โดยแยกเป็นเฉพาะของแต่ละเขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ ที่จะใช้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ก่อนกกต.จะมีมติดังกล่าว สำนักงานกกต.ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 2 รูปแบบ คือ แบบสมบูรณ์ มีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อ และโลโกพรรคการเมือง กับแบบที่มีเฉพาะหมายเลขผู้สมัครเพียงอย่างเดียว ที่เรียกกันว่า “บัตรกลาง” บรรจุวาระเข้าที่ประชุมกกต.เพื่อมีมติ

บัตรเลือกตั้งแบบสมบูรณ์นั้นเป็นแบบที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา จนประชาชนมีความคุ้นเคย คือมีรายละเอียดระบุทั้งหมายเลขผู้สมัคร ชื่อ และโลโกพรรคการเมืองที่สังกัด ให้สังเกตได้อย่างชัดเจน ส่วนข้อเสนอ “บัตรกลาง” หรือบางคนเรียก “บัตรโหล” คือมีเฉพาะช่องหมายเลขให้ลงคะแนน เท่ากับจำนวนพรรค การเมืองที่ได้รับการรับรองสถานะแล้ว ซึ่งตามข้อมูลถึง 30 พฤศจิกายน มีถึง 95 พรรค และอยู่ในกระบวนการอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ใช้ได้กับทุกเขตเลือกตั้ง

[caption id="attachment_363867" align="aligncenter" width="335"] เพิ่มเพื่อน [/caption]

อย่างไรก็ตามข้อเสนอบัตรกลางของสำนักงาน กกต.ดังกล่าวถูกทักท้วงอย่างหนักทั้งจากนักการเมืองและสังคมทั่วไป ว่าจะสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้สิทธิลงคะแนน ประชาชนไม่คุ้นเคย กระทั่งวิตกว่าจะเกิดความไม่โปร่งใสในการลงคะแนน ท้ายที่สุดกกต.ลงมติให้ใช้บัตรแบบสมบูรณ์เหมือนเดิมดังกล่าว

การตัดสินใจของกกต.ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการรับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนรอบข้าง สร้างความยอมรับและความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินการต่อๆ ไปที่ยังมีอีกหลายเรื่อง ส่วนปัญหาทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นต้องไปหาทางป้องกันและแก้ไข เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

กกต.เป็นกลไกตามกฎหมาย มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม เริ่มงานจากภาวะติดลบ จากกระแสโจมตีว่ามาจากอำนาจรัฐบาลทหาร งานแรกก็สะดุดขาตนเองเมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งไม่สะเด็ดนํ้าจนต้องใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ตามม.44 ปลดล็อก ยิ่งเข้าสู่โหมดเลือกตั้งที่ต้องทำตามกติกาใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม สวนกระแสความคุ้นเคยของทุกฝ่าย มีโอกาสถูกใช้เป็นประเด็นโจมตีได้ตลอดเวลา

เป็นภาระอันหนักของกกต. ที่ต้องทำงานท่ามกลางความคาดหวังของทุกฝ่าย ภายใต้เวลาจำกัดเพื่อนำสังคมไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง กกต.ต้องยืนให้มั่นคงบนหลักการ รับฟังทุกกระแสความคิดเห็นแล้วตัดสินใจอย่างอิสระ เที่ยงตรง โปร่งใส สร้างความยอมรับในใจประชาชนให้ได้ว่า “ไม่เอียง” เพื่อดับชนวนความขัดแย้งการเมืองที่เริ่มก่อเค้าอีกแล้ว


| บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3428 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 20-22 ธ.ค.2561
595959859