'โอเปก' ผนึก 'รัสเซีย' ดันราคาน้ำมัน! พันธมิตรขั้วใหม่ในวันโดดเดี่ยวมะกัน (ตอน 1)

13 ธ.ค. 2561 | 04:18 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

| รายงานพิเศษ : 'โอเปก' ผนึก 'รัสเซีย' ดันราคาน้ำมัน! พันธมิตรขั้วใหม่ในวันโดดเดี่ยวมะกัน (ตอน 1)

| โดย โต๊ะข่าวต่างประเทศ

……………….


ก่อนหน้าการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกนํ้ามันปิโตรเลียม หรือ 'โอเปก' ครั้งล่าสุด ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มเองในวันที่ 6 ธ.ค. ตามด้วยการประชุมร่วมกับประเทศผู้ผลิตนํ้ามันนอกกลุ่มโอเปก รวมทั้งรัสเซียในวันรุ่งขึ้น (7 ธ.ค.) ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์ระบุว่า "เขาหวังว่า โอเปกจะไม่จำกัดการผลิตนํ้ามันดิบโลกไม่อยากเห็น และไม่จำเป็นใด ๆ เลย ที่จะต้องมีราคานํ้ามันที่ทะยานสูงขึ้น!"

ท่าทีนี้ชัดเจน แต่ก็เห็นแล้วว่า โอเปกและประเทศพันธมิตรนอกกลุ่มต่างตกลงที่จะสวนทางความต้องการของผู้นำสหรัฐฯ โดยกำหนดเป้าหมายจะลดปริมาณการผลิตนํ้ามันลงมา เพื่อดันราคาให้สูงขึ้น โอเปกและพันธมิตรตั้งเป้าจะลดการผลิตรวมกันวันละ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 สมาชิกโอเปกจะรับผิดชอบในการลดกำลังการผลิตลง 800,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ รัสเซียและประเทศผู้ส่งออกรายอื่นนอกกลุ่มโอเปกจะลดการผลิตลง 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่ผิดไปจากที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ว่า โอเปกและพันธมิตรน่าจะตกลงลดกำลังการผลิตนํ้ามัน ระหว่าง 1 ล้าน - 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน


รัสเซียชิงบทบาทผู้นำ

ความตกลงดังกล่าวได้มาไม่ง่าย เพราะในวันที่โอเปกประชุมกันเอง 15 ประเทศ ในวันที่ 6 ธ.ค. ทางกลุ่มยังไร้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิต นักลงทุนพากันผิดหวังตาม ๆ กัน และราคานํ้ามันดิบก็ปรับตัวลดลง กระทั่งวันรุ่งขึ้น (7 ธ.ค.) มีการหารือกับรัสเซีย โดย นายอเล็กซานเดอร์ โนแวค รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซีย (ที่คงได้รับไฟเขียวจากประธานาธิบดี "วลาดิมีร์ ปูติน" มาเรียบร้อยแล้ว เพราะทั้งคู่พบกันที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก่อนหน้านั้น) ได้เปิดประเด็นว่า รัสเซียยินดีจะลดการผลิตลง 2% ของกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. หรือ 2% ของปริมาณ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งก็เท่ากับประมาณ 228,000-230,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้สมาชิกโอเปกยอมกำหนดเป้าการลดกำลังผลิตของตัวเอง รวมทั้งยอมผ่อนผันให้อิหร่าน ซึ่งเป็นสมาชิกโอเปกและเป็นผู้ส่งออกนํ้ามันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่ม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องลดการผลิตในรอบนี้ เพราะอิหร่านถูกสหรัฐฯ กดดันด้วยมาตรการควํ่าบาตร ทำให้การส่งออกนํ้ามันของอิหร่านถูกสกัดทางเข้าตลาด


trump

รัฐบาลอิหร่านจึงลดกำลังการผลิตนํ้ามันลงมาอยู่แล้ว เพราะสถานการณ์บังคับ สมาชิกอีก 2 ประเทศ ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องลดการผลิต คือ เวเนซุเอลาและลิเบีย ที่ประสบภาวะวิกฤติในประเทศ ทำให้กำลังการผลิตลดลงมาอยู่แล้วเช่นกัน ส่วนไนจีเรียที่เคยได้รับการยกเว้นในการประชุมลดการผลิตครั้งก่อนหน้า มาครั้งนี้ต้องลดการผลิตลงด้วย โดยสมาชิกโอเปกที่ตกลงลดกำลังการผลิตนั้น จะต้องลดการผลิตโดยเฉลี่ย 2.5% ของกำลังการผลิตในเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ยังตกลงเลื่อนวันประชุมครั้งต่อไปให้เร็วขึ้นจากกลางปีหน้า มาเป็นเดือน เม.ย. (2562) เพื่อติดตามผลหลังลดการผลิตและทบทวนนโยบายกันอีกครั้ง

ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบเบรนต์ที่เป็นราคาอ้างอิงในตลาดโลก พุ่งขึ้นถึง 4.9% เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (7 ธ.ค.) สู่ระดับ 63 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคานํ้ามันดิบ "เวสต์ เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต" (WTI) ปรับขึ้น 4.3% สู่ระดับ 53.69 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล


อำนาจที่สั่นคลอนของซาอุฯ

การผลิตนํ้ามันของซาอุฯ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ที่สถิติ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่หลังจากข้อตกลงครั้งนี้ การผลิตจะลดลงมาอยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค. และจะลงมาที่ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. ปีหน้า "คาลิด อัล-ฟาลีห์" รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า ซาอุฯ พูดจริง ทำจริง และต้องการให้ปี 2562 เริ่มต้นด้วยความมั่นคงสำหรับประเทศผู้ส่งออกนํ้ามัน ท่าทีดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องผิดคาด เพราะตลาดคาดว่า ซาอุฯ จะพยายามปิดบังปริมาณการผลิตที่ต้องการลด เพราะไม่อยากมีเรื่องกับสหรัฐฯ หรือ ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ รู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยว

ทั้งนี้ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ได้พยายามโน้มน้าวซาอุฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ในโลกอาหรับและในกลุ่มโอเปก ให้เพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงกลางปี เพราะสหรัฐฯ ต้องการควํ่าบาตรอิหร่าน ซึ่งจะทำให้ปริมาณนํ้ามันส่วนหนึ่งหายไปจากตลาด การขู่คุกคามอิหร่านด้วยมาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ มีผลทำให้ราคานํ้ามันดิบขยับสูงขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ต้นปีมา


ON-10ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

แต่ผู้นำสหรัฐฯ กลับมองว่า โอเปกเป็นต้นเหตุของราคานํ้ามันที่สูงขึ้น และเป็นหน้าที่ของโอเปกที่ควรจะต้องคุมให้ราคานํ้ามันปรับลดลงมา สหรัฐฯ เองก็ได้เพิ่มการผลิตสู่ตลาด จนในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ราคานํ้ามันดิบสหรัฐฯ ปรับลดลงถึง 22% ซึ่งลงมากเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่เคยอยู่ในระดับเหนือ 76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน ต.ค.

เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความขอบคุณซาอุฯ ที่ช่วยให้ราคานํ้ามันปรับลดลง และเขาเองก็เรียกร้องให้ราคานํ้ามันปรับตัวลงต่อไป "ราคานํ้ามันกำลังปรับตัวลดลง สิ่งนี้เหมือนกับการลดภาษีครั้งใหญ่ให้กับอเมริกาและโลก ตอนนี้ราคานํ้ามันอยู่ที่ 54 ดอลลาร์ หลังจากเพิ่งแตะ 82 ดอลลาร์ ขอบคุณซาอุดีอาระเบีย แต่ก็ขอให้ราคานํ้ามันลดลงต่อไป" ข้อความในทวิตเตอร์ของทรัมป์ระบุ

อย่างไรก็ตาม การตกลงลดปริมาณการผลิตในการประชุมครั้งล่าสุดของกลุ่มโอเปก ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรนอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย เห็นได้ชัดว่า ซาอุฯ ไม่ขอเดินตามเกม หรือ แรงกดดันของสหรัฐฯ อีกแล้ว อย่างน้อยก็ในคราวนี้ ภาวะระสํ่าระสายของโอเปกหลังกาตาร์ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกเริ่มมีผลต้นปีหน้า และแนวโน้มที่นักวิเคราะห์มองว่า อาจมีอีกหลายประเทศที่จะเดินตามกาตาร์ออกไป ผลกระทบต่อโอเปกรวมทั้งแนวโน้มราคานํ้ามันโลกจะเป็นอย่างไร ... โปรดติดตามในฉบับหน้า


รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,426 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2561


595959859-6-503x60