ปตท.รับมือนํ้ามัน 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ จ่อขายทิ้งกิจการพร้อมเล็งลงทุนเพิ่ม

01 มี.ค. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ ปตท. ต้องปรับแผนดำเนินธุรกิจใหม่บนสมมุติฐานที่เป็นไปได้ เพื่อพร้อมรับทุกสถานการณ์ โดยได้ทดสอบภาวะวิกฤต กรณี New normal ระดับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 35-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลไปจนถึงปี 2563 จะต้องดำเนินธุรกิจอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมองถึงหากกรณีที่ระดับราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งอาจกระทบผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.บ้าง โดยเฉพาะธุรกิจขุดเจาะ สำรวจและผลิต ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่ขุดพบศักยภาพก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบแล้ว แต่ยังรอการพัฒนา 5-6 โครงการ

แต่ด้วยระดับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก ทำให้โครงการใหม่เกิดขึ้นยาก โครงการที่ผลิตแล้วก็เพียงรักษาระดับการผลิตต่อไป ซึ่งหากราคาน้ำมันดิบยังต่ำต่อเนื่อง โอกาสที่จะลดกำลังการผลิตลงเรื่อยๆก็มีเช่นกัน อย่างไรก็ตามต้นทุนผลิตของ ปตท.สผ. อยู่ที่ 15-16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น จะมีผู้ผลิตรายอื่นได้รับผลกระทบก่อน ปตท.สผ. และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นหลังจากกำลังการผลิตบางส่วนหายไป

อย่างไรก็ตาม การตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันระดับต่ำ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แม้จะกระทบต่อการดำเนินงาน แต่ ปตท.ยังมีกระแสเงินสดในมือ ปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท และหากรวมทั้งกลุ่มจะอยู่ที่กว่า 3 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในกิจการ หรือซื้อกิจการที่ต้องการขายออกมาในช่วงนี้

ขณะที่งบลงทุนช่วง 5 ปี (2559-2563) วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ย 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ปตท.ยังไม่มีการทบทวนใหม่ และหากรวมทั้งกลุ่ม ปตท. งบลงทุน 5 ปีจะอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท ซึ่งงบลงทุนส่วนใหญ่ของ ปตท. จะใช้สำหรับลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% ใช้ในการขยายการลงทุน โดยเชื่อว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 35- 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

“ตอนนี้กลุ่ม ปตท.มีการทำแผนสมมติฐานราคาน้ำมันในระดับต่ำ ส่งผลกระทบโดยตรงกับ ปตท.สผ. ดังนั้นแท่นผลิตใหม่ๆคงเกิดขึ้นยาก แต่ระดับราคาน้ำมันดิบ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ยังมีอีกหลายบริษัทที่ไม่สามารถอยู่ได้ ปัจจุบันมีบริษัทอัพสตรีม 400 บริษัท จะเห็นได้จากราคาน้ำมันที่ระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มีบริษัทที่ล้มแล้ว 100 บริษัท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ต้องจับตาดูแหล่งเชลล์ออยล์ในสหรัฐอเมริกา ที่จะทยอยลดกำลังการผลิตลง และบางส่วนทยอยขายกิจการ ส่วนธุรกิจถ่านหิน ก็กำลังพิจารณาว่าจะขายกิจการหรือเป็นโอกาสลงทุนเพิ่ม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ ส่วนธุรกิจปาล์ม ก็ทยอยขายไปแล้ว 4 ใน 5 โครงการ ยังเหลืออีก 1 โครงการจะทยอยขายต่อไป อย่างไรก็ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคงดำเนินต่อไป เพราะเป็นสิ่งจำเป็นด้านพลังงาน อาทิ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คลังแอลเอ็นจี”นายเทวินทร์ กล่าว

นายเทวินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปตท.ยังมองหาโอกาสลงทุนร่วมกับรัสเซีย เนื่องจากเห็นว่าประเทศรัสเซียมีทรัพยากรและมีต้นทุนพลังงานต่ำ ซึ่ง ปตท.พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมเป็นพันธมิตรด้านการซื้อน้ำมันดิบ ไปจนถึงการร่วมทุนสำรวจและผลิต และซื้อแอลเอ็นจี เนื่องจากระยะทางจากตะวันออกไม่ไกลมากนัก ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ได้หารือกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปบ้างแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อแอลเอ็นจีระยะยาว รวมถึงการเข้าไปร่วมทุน หากมีความเป็นไปได้คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาตกลงร่วมกัน(เอ็มโอยู) ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2558 ที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง 47.3% เมื่อเทียบกับปี 2557 ส่งผลให้รายได้จากการขายของทุกกลุ่มธุรกิจรวมอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ลดลง 22.2% จากปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณการขายโดยรวมเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับการดำเนินงานของ ปตท.เป็นลักษณะครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงทำให้สามารถรักษาศักยภาพการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่าหากเปรียบเทียบเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ หรือ ปลายน้ำโดยลำพัง

โดยทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้จะเฉลี่ยที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ราคาที่เป็นอยู่ขณะนี้ น่าจะผ่านระดับที่ต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งการปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อรับกับสถานการณ์ทุกแง่มุมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร และรับมือกับภาวะท้าทายในธุรกิจพลังงานเช่นนี้ โดยปตท.จะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นจุดแข็งให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก้าวออกจากธุรกิจที่เป็นจุดอ่อนในขณะนี้

พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งการพิจารณาต่อยอดหรือลงทุนขยายธุรกิจ เพื่อบริหารความเสี่ยง สร้างมูลค่าเพิ่ม ควบรวมกิจการที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสความได้เปรียบทางการแข่งขันให้มากขึ้น

ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. เผยว่า กำไรปีนี้ของ ปตท. น่าจะดีกว่าปี 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ต้องบันทึกด้อยค่าเหมือนปีก่อนที่ 5 หมื่นล้านบาท จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง โดยการบันทึกด้อยค่าดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกทางบัญชี ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดแต่อย่างใด และแม้ว่ารายได้จากการขายในปี 2558 ลดลง ทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น รวมถึงธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ แต่ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 2557 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายในกลุ่มดีเซล และเบนซินตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

ทั้งนี้ ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (อีบิทดา) 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 66% จากปีก่อน ขณะที่สินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2558 นั้น มีทั้งสิ้น 2.1 ล้านล้านบาท

สำหรับการบันทึกขาดทุนจากการขายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) คาดว่าในปีนี้จะลดลงเหลือ 5 พันล้านบาท จากปีก่อนรับภาระขาดทุน 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกระทรวงพลังงานปรับลอยตัวราคาพลังงาน ประกอบกับราคาต้นทุนก๊าซปรับลดลงใกล้เคียงกับราคาขายปลีก 13.50 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มเห็นกำไรจากการขายเอ็นจีวีบ้าง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559