Management Tools : Feedback box รู้จักกล่องสะท้อนกลับ

24 ต.ค. 2561 | 05:29 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

 

65986598 มนุษย์มักไม่ชอบกับเสียงวิจารณ์แม้ปากจะพร่ำว่า ช่วยให้ความเห็นหน่อยจะได้นำไปปรับปรุงอะไรๆ ให้ดีขึ้น  แต่พอมีคนวิจารณ์ถึงสิ่งที่เป็นปัญหา เป็นจุดอ่อนที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ก็อดไม่ได้ที่จะโมโหเนื่องจากไม่สบอารมณ์

คำชม คำหวาน คำเยินยอ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ปุถุชนอย่างเราท่านต้องการ  หากบอกว่าดีแล้ว เหมาะสมแล้ว เข้าทำนอง ”ใช่ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” ก็จะรู้สึกดีต่อผู้พูด  แต่อาจนำไปสู่การหลงผิดต่อคำเยินยอ ไม่ได้รับการสะท้อนกลับ (Feedback) ข้อมูลที่เป็นจริง

การวิจารณ์คนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  อาจนำไปสู่บรรยากาศเชิงลบ เสียเพื่อน เสียคนที่รู้จักคุ้นเคย   หรือบางทีเราไปหวังดีวิจารณ์คนที่มีอำนาจท้ายสุดก็กลับเป็นผลเสียกับเรา  เพราะท่านไม่สบอารมณ์เลยใช้อำนาจที่ท่านมีมาจัดการกับเราซะงั้น ดังนั้นการวิจารณ์คนหรือการสะท้อนกลับสิ่งที่เป็นจริงจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ว่าอย่างไรให้ได้มิตร ไม่ใช่เพิ่มศัตรู

มีตัวแบบที่ให้แง่คิดในการสะท้อนกลับข้อมูลที่เรียกว่า ตัวแบบกล่องสะท้อนกลับ หรือ Feedback box โดยสร้างจากตารางสี่เหลี่ยม 4 ช่อง ที่เป็นส่วนผสม (combination) ของมุมมองเชิงลบและมุมมองเชิงบวก แกนหนึ่งเป็นมุมมองต่อสถานการณ์  โดยหาก “ลบ” หมายถึง มองเห็นอะไรๆก็เป็นปัญหา  ส่วน “บวก” คือ มองเห็นอะไรๆก็ดีไม่เห็นเป็นปัญหา    ส่วนอีกแกนหนึ่งเป็นมุมมองต่อความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง “ลบ” คือ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง  “บวก” คือ ยังคงอยู่กับมันได้ ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร    กลายเป็น วิธีการสะท้อนกลับ 4 แบบ  ดังนี้
1539924934759 กล่องที่หนึ่ง กล่องช่างวิจารณ์ (Criticism, -/-) นักวิจารณ์มักมองสถานการณ์ในทางลบ  เห็นอะไรก็เป็นปัญหา  ชีวิตนี้จึงเป็นนักวิจารณ์สังคม ไม่มีสิ่งใดดีในสายตา วิจารณ์ดะไปเรื่อย  ในขณะเดียวกันก็กลับมีความปรารถนารุนแรงในการเปลี่ยนแปลงราวกับนักปฏิวัติ  ไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน  ไม่สามารถอยู่ร่วมโลกกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้

ความเห็นสะท้อนกลับที่ได้จากนักวิจารณ์จึงมีแง่มุมที่น่าสนใจ คือ มองเห็นปัญหาและร้อนรนที่จะเปลี่ยนแปลง  แต่มักจะเป็นการสะท้อนกลับที่ไม่รื่นหู  ผู้บริหารหรือนักปกครองจะทนไม่ได้กับการสะท้อนกลับเช่นนี้

ดังนั้น นมุมของผู้สะท้อนกลับ อาจต้องรู้จักลดดีกรีการนำเสนอให้ดุเด็ดเผ็ดมันน้อยลง ส่วนในมุมของผู้รับฟังเสียงสะท้อนก็ควรเข้าใจได้ว่านี่คือลักษณะของนักวิจารณ์และรู้จักสกัดเอาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์มาคิดใช้เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น  ไม่ใช่หูแดงไม่พอใจ ใช้อำนาจปลดซะ

กล่องที่สอง  กล่องสะท้อนกลับแบบขอให้ได้เสนอ (Suggestion, -/+)  พวกนี้จะเป็นพวกที่มองเห็นปัญหา คือเห็นสถานการณ์ในเชิงลบ  แต่จะสะท้อนแค่ปัญหาไม่มีมุมมองในการแก้ไข  ยังสามารถทนอยู่กับปัญหาได้   จัดเป็นกลุ่มที่ออกจะน่ารำคาญกลุ่มหนึ่ง  เนื่องจากเวลาใครเสนอโครงการอะไร  ก็มักจะมีมุมมองในเชิงลบไว้ก่อนว่าจะเป็นปัญหาโน่นปัญหานี่  แต่พอประธานที่ประชุมถามว่าแล้วจะให้แก้อย่างไรก็กลับไม่มีคำตอบ  พร้อมที่จะทนอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาได้โดยไม่มีการแก้ไข

หากนำข้อดีของกลุ่มนี้มาคิด  ก็คงต้องทำใจว่า  เขาอุตส่าห์เสนอแนะส่วนที่เป็นปัญหาแล้ว  ที่ประชุมควรช่วยกันระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ไข  อย่างนี้เราจะไม่หงุดหงิดกับวิธีการสะท้อนกลับแบบกล่องที่สอง
shutterstock_156241676 กล่องที่สาม กล่องสะท้อนกลับแบบช่างแนะนำ (Advice, +/-)   กลุ่มนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจคือ ชอบสะท้อนกลับว่า  สิ่งที่เป็นอยู่น่ะดีแล้ว แต่ก็สามารถเสนอแนะว่าจะแก้โน่นแก้นี่ได้ตลอด  จัดเป็นพวกช่างแนะนำ  ซึ่งผู้ฟังต้องประเมินและเสี่ยงเอาเองว่าสมควรจะทำตามสิ่งที่สะท้อนกลับหรือไม่  เพราะสิ่งที่เป็นปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว  การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นความเสี่ยงไปสู่สถานการณ์ที่แย่ลงกว่าเดิมก็ได้

ความลำบากในการจัดการของผู้บริหารที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นพวกช่างแนะนำคือ  การทำให้การประชุมดูยืดยาว  สิ่งที่ควรจบกลับไม่จบ  ถึงจุดที่พอแล้วกลับยืดยาวสาวต่อ  หรือเข้ามาแก้สถานการณ์ที่เป็นปัญหาได้เรียบร้อยแล้วก็ยังคิดว่าต้องทำโน่นทำนี่เพิ่มเติม เป็นการต่อเติมในสิ่งที่ไม่จำเป็น  ท้ายสุดอาจวกกลับมาเป็นผลเสียต่อบ้านเมือง เอ๊ย ต่อองค์การ

ผู้บริหารที่ได้รับการสะท้อนกลับแบบช่างแนะนำ  จึงควรไตร่ตรองให้รอบคอบว่าสมควรเสริมต่อตามข้อวิจารณ์หรือไม่ หรือควรพอใจในสิ่งที่ดีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว  ต้องเสี่ยงเอาเอง

กล่องที่สี่  กล่องดีครับนาย (Compliment, +/+) เป็นเสียงสะท้อนกลับที่ค่อนข้างรื่นหูสำหรับนักบริหาร  เพราะจะให้ความเห็นทำนองว่าสิ่งที่เจ้านายทำอยู่ในปัจจุบันนี้ดีแล้วไม่มีปัญหาใดๆ  และไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ ด้วย เข้าทำนองสรรเสริญเยินยอในเชิงบวกว่าที่ทำอยู่นั้นดีทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต  บางทีชมกันยาวๆ ว่าสิ่งที่ทำนี้จะเหมาะสมไปข้างหน้าถึง 20 ปี (ไม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์อะไรที่ยาวๆ นะครับ)

ผู้บริหารที่มีกุนซือหรือผู้ให้คำแนะนำที่ใช้วิธีการสะท้อนกลับแบบที่สี่นี้ หากเคลิบเคลิ้มตามก็น่าเป็นห่วงยิ่ง  เพราะบริวารจะรู้จุดอ่อนของเจ้านายและเลือกที่จะสะท้อนกลับในวาทะที่รื่นหู  การหลงระเริงไปตามจะทำให้มองไม่เห็นปัญหาและเฉยชากับการหาทางป้องกันแก้ไขในอนาคต

การให้โอกาสแก่คนกลุ่มนี้ คือ อาจต้องถามต่อ  “ที่ดีแล้วน่ะ จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรอีก”  หากพวกมีปัญญาจริงไม่ใช่เอาแต่เชลียร์ก็สามารถใช้โอกาสในการเสนอสิ่งที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกได้  แต่หากเป็นพวกมีแต่ลิ้นอาจมึนงงไปพักเพราะมองไม่ออกว่าจะต้องทำอะไรต่อ

รู้จักกล่องสะท้อนกลับทั้งสี่แบบแล้ว ชอบกล่องไหนล่ะ และเลือกที่จะอยู่กับพวกชอบสะท้อนกลับแบบไหน  คิดเอาเองครับ

|คอลัมน์ : Management Tools
|โดย : รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3411 ระหว่างวันที่ 21-24 ต.ค.2561
595959859