ซันสวีทกรุยทางสู่เออีซี แต่งตัวเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯยกระดับสู่สากล

23 ก.พ. 2559 | 03:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"ซันสวีท" เดินหน้ายกระดับจากกิจการท้องถิ่นสู่สากล ประเดิมสู่บริษัทมหาชน ชี้แม้อยู่เชียงใหม่ แต่ก็เป็นเพียงแค่ระยะทาง มั่นใจมีมาตรฐานทัดเทียมกิจการจากส่วนกลาง ตั้งเป้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 60 หรือ 61 นำเงินส่วนหนึ่งมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต พร้อมเดินเครื่องทำตลาดประเทศรอบบ้านหลังเปิดเออีซี

ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องและข้าวโพดหวานแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศไทยแบรนด์ KC ซึ่งมีฐานการผลิตที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2558 โดยตั้งใจว่า จะใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 30 เดือนในการเตรียมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาการผลิต คุณภาพ การขยายตลาด รวมทั้งการเตรียมองค์กรในด้านต่างๆ โดยได้แต่งตั้งบริษัท แอสเซท โปร แมแนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน โดยคาดว่า จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2560 หรือ 2561

เป้าหมายของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประการแรกต้องการสร้างรากฐานของบริษัทให้มีความมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งยกระดับองค์กรให้มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้องค์กรและผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก และได้รับความเชื่อถือตลอดไป ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง

"ที่ผ่านมามักจะมีการกล่าวกันว่า ซันสวีท อยู่ต่างจังหวัดไกลจากกรุงเทพฯ แต่นั้นเป็นเรื่องของระยะทาง แต่ตนคิดว่า บริษัทที่อยู่ต่างจังหวัด ก็มีศักยภาพพอที่จะยกระดับให้การบริหารการจัดการเรื่องของธุรกิจต่างๆ ยกระดับขึ้นให้ทัดเทียมกับบริษัทในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ หรือระดับนานาชาติได้ อันนี้คือ สิ่งที่เราต้องการ ประการแรก ก็คือ เพื่อยกระดับองค์กรเข้าสู่มาตรฐาน ประการที่2 สนับสนุนธุรกิจที่ทำอยู่ เพราะปัจจุบันบริษัทที่เป็นคู่ค้า เป็นบริษัทในต่างประเทศ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ที่อยู่ทั่วโลก การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือว่า เป็นบริษัทที่มีมาตรฐานสากล ทำให้คู่ค้ามีความเชื่อถือมากขึ้น ประการที่3 เพื่อพัฒนาในด้านเทคโนโลยี เครื่องจักรต่างๆ ซึ่งจะเป็นการนำเงินมาขายและปรับปรุง ซึ่งจะมีการนำลงทุนนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ดีและทันสมัยมาใช้ ประการที่ 4 ดึงคนที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางเข้ามาช่วย และประการสุดท้าย คนที่ทำงานอยู่กับบริษัททั้งหมดจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกษตร คนงาน คู่ค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

ดร.องอาจ กล่าวต่อไปว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตนมองว่า เงินของการระดมทุนเป็นเรื่องรอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขว่าจะระดมทุนเท่าไหร่ เงินที่ได้ก็จะนำมาพัฒนาและปรับปรุงภายในองค์กร โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะช่วยในเรื่องของการเพิ่มคุณภาพ รวมถึงการผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่ ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้ จะนำเข้ามาเพิ่มขยายตัวสินค้าใหม่ๆ คาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทยอยทำไปบ้างแล้ว

ด้านผลประกอบการปีที่ผ่านมา แม้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ค่อยดี แต่บริษัทก็ยังสามารถเติบโตได้ 10-15% จากรายได้ 1,500 ล้านบาท แต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโต 20-30% อย่างไรก็ตามผลประกอบการที่ได้ ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ และในปี 2559 เรื่องของพืชผลทางการเกษตร อาจจะมีอุปสรรคในเรื่องของน้ำแล้ง แต่ก็มีปัจจัยอื่นเข้ามาช่วยเสริม อาทิ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงสอดรับกับการส่งออก ทำให้การส่งออกดีขึ้น อีกทั้งต้นทุนหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของพลังงาน เรื่องของน้ำมันที่ลดลง ส่วนนี้จะมาช่วยในเรื่องของต้นทุน จะทำให้ทำตลาดง่ายขึ้น สะดวกขึ้น น่าจะส่งผลเรื่องของการส่งออกมากขึ้น

"บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตในแต่ละปีค่อนข้างสูง ปีนี้ก็อาจจะต้องรอบคอบ เพราะมีเรื่องของวัตถุดิบและเรื่องของภัยแล้ง ถ้าเป็นไปตามที่มีการพยากรณ์เรื่องภัยแล้ง เราก็คงมีโอกาสเติบโต 10-20% โดยเราคาดหวังไว้ว่าจะให้ถึง 2,000 ล้านบาท จากที่กล่าวไว้ว่า มีเงินของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าและราคาน้ำมันที่ลดลงช่วยหนุน"

ดร.องอาจ กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นด้านการตลาดว่า ที่ผ่านมาบริษัทส่งออกมาก ขายในประเทศน้อย แต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ส่งออกเหมือนเดิม แต่ในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดต่างประเทศ ตลาดหลักมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ตลาดหลักจะอยู่ในเอเซีย ก่อนหน้านี้จะอยู่ในยุโรป แต่พอทำมากขึ้นแล้วทางยุโรปก็พยายามตั้งกำแพงภาษี และก็ข้ามมาเอเชีย ฉะนั้น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เป็นตลาดหลักของบริษัทเกิน 50% และใน 3-4 ประเทศนี้ ก็เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตที่ดี ที่เหลือก็กระจายออกไป ส่วนภายในประเทศจากเดิมไม่ถึง 10% แต่ตอนนี้จะเริ่มแตะถึง 10%

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็มีการนำเข้าน้ำมันพืช น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพดจากยุโรปตอนใต้มาขายในไทยและอาเซียน ในไทยก็ส่งให้โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนประเทศรอบข้าง ก็จะมีเมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเชีย ก็จะทยอยทำตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่า พอเปิดเออีซี เชียงใหม่ ประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นในการซื้อหรือขาย น่าจะเป็นศักยภาพ โดยขณะนี้ยังเป็นการขายให้กับผู้จัดจำหน่ายที่แต่งตั้งขึ้น ยังไม่ได้เข้าไปทำการขายตรง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559