อานิสงส์พรีเมียมส่งออกข้าว ใช้ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ย/อุ้มเกษตรกร 6.1 แสนครัวเรือน

17 ก.พ. 2559 | 11:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

"อุบลศักดิ์" ยัน 1 พันล้านปลอดดอกเบี้ยอุ้มชาวนากว่า 6 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ มาจากค่าพรีเมียมที่เก็บจากผู้ส่งออกข้าว เผยปีนี้พิเศษตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ดูแลเงินกองกลาง /เพิ่มความสะดวกให้สมาชิกเกษตรกรกู้ยืมรอบต่อไป โดยไม่ต้องส่งเรื่องกู้เข้าส่วนกลาง ด้าน ธ.ก.ส.รายงานผล 3 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปี 2558/59 คืบ

[caption id="attachment_31689" align="aligncenter" width="364"] อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทยกรรมการในคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม
ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทยกรรมการในคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร[/caption]

นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทยกรรมการในคณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ได้มีมติอนุมัติให้ใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจำนวน 1 พันล้านบาทมาปล่อยกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลา 5 ปี (2559 - 2564) ผ่านกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้น กลุ่มเกษตรกรที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้นั้นจะต้องเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่จะต้องผ่านมาตรฐานการรับรองจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งมีประมาณ 5.6 พันกลุ่ม มีสมาชิก จำนวน 6.18 แสนครัวเรือน จากทั้งหมดกว่า 7 พันกลุ่มทั่วประเทศ โดยสามารถกู้ยืมได้ครั้งละไม่เกิน 5 แสนบาท

"ความจริงแล้วที่ผ่านมาในรอบ 30 ปี จะมีการปิดบัญชีกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรรอบละ 5 ปี เพื่อจูงใจให้เกษตรกรนำเงินมาคืนแล้วได้หมุนเงินให้เร็วขึ้น โดยจะนำฐานข้อมูลของกลุ่มเกษตรกรมาเฉลี่ยสมาชิก ใครมีสมาชิกจำนวนมาก จะได้รับเงินไปจัดสรรมาก จะเฉลี่ยอย่างยุติธรรม แล้วให้เงินไปอยู่คณะกรรมการแต่ละจังหวัดเพื่อลดการขั้นตอนขอกู้ยืมในรอบต่อไป เพราะทุกปีหลังจากใช้คืน เกษตรกรที่ต้องการกู้ต้องยื่นเรื่องที่ส่วนกลางใหม่ทำให้เสียเวลา จึงลดขั้นตอนให้เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินของชาวนาที่เก็บจากค่าธรรมเนียมจากการส่งออกข้าว(ค่าพรีเมียมข้าวตั้งแต่ปี 2519-2529) ไม่ใช่เงินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้"

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง รายงานผลการดำเนินงานตามมติครม. ถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/2559 ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 มี 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2558/2559 อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2560 จำนวนกว่า 975 ล้านบาท

ล่าสุดดำเนินการจัดทำระบบดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร คัดกรองเกษตรกร ประสานงานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เรื่องบัญชีรายชื่อที่จะเข้าร่วมโครงการ ปัญหาเนื่องจากโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวนมาก ต้องตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนกับโครงการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด

2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2558/2559 ผลการดำเนินงานมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 434 สหกรณ์ วงเงินขอกู้ 1.41 หมื่นล้านบาท อนุมัติเงินกู้แล้ว 219 สหกรณ์ วงเงินที่อนุมัติ 8.99 พันล้านบาท เบิกเงินกู้แล้ว 218 สหกรณ์ จำนวนเงิน 7 พันล้านบาทเศษ (อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2560 จำนวน 201 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1. ผลการรวบรวมข้าวเปลือกทุกชนิดเพื่อขาย ปริมาณ 1.9 ล้านตัน มูลค่า 1.72 หมื่นล้านบาท และ 2.ผลการรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อแปรรูป ปริมาณ 3.73 หมื่นตัน มูลค่า 390 ล้านบาท

3.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.เกษตรกร เข้าร่วม 2.8 หมื่นราย จำนวน 1.69 แสนตัน มูลค่า 2.2 พันล้านบาท 2.สหกรณ์ เข้าร่วม 81 ราย ปริมาณกว่า 2 หมื่นตัน มูลค่า 387 ล้านบาท มีปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงานสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเตรียมข้าวขึ้นยุ้งสูงขึ้น เกษตรกรเห็นว่าไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายจึงไม่เข้าร่วมโครงการ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนขาดแคลนยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกและสถานที่ตากข้าวเปลือก เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรับจำนำโดยการจำนำใบประทวน ไม่ได้เก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของตนเอง จึงไม่ได้ปรับปรุงซ่อมแซม ทำให้บางรายขายข้าวไปแล้วเพราะไม่มีสถานที่เก็บ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559