'ไทยยูเนี่ยน' บนความท้าทาย! เร่งสปีดทุกช่องทาง ดันกำไรโงหัว

28 มิ.ย. 2561 | 06:54 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

280661-1351

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป เบอร์ 1 ทูน่าโลกสัญชาติไทย ถือเป็น 1 ในกลุ่มบริษัทที่มีสีสัน สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการอยู่ตลอดเวลา นับจากการลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ด้วยการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ชิกเก้น ออฟ เดอะ ซี ในสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นได้เดินหน้ากลยุทธ์การควบรวมและการซื้อกิจการ (M&A) อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ทั้งในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ดึงแบรนด์ชั้นนำของโลกเข้ามาอยู่ในมือมากที่สุด ส่งผลให้ยอดขายและกำไรของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง ชะลอ M&A ดันกำไรเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ 'ธีรพงศ์ จันศิริ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาระบุด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ย้ำชัดว่า "ณ วันนี้ M&A ไม่ใช่ Priority (การให้ความสำคัญ) หลักของเรา แม้ที่ผ่านมา ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง แต่ช่วงนี้จะยังไม่มีการลงทุนอะไรที่ใหญ่ ๆ"

 

[caption id="attachment_292029" align="aligncenter" width="335"] ธีรพงศ์ จันศิริ ธีรพงศ์ จันศิริ[/caption]

ทั้งนี้ ผลพวงจากช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้น (กรอสมาร์จิน) ต่ำกว่ามาตรฐาน โดย 3-4 ไตรมาสล่าสุด อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 14% ถือเป็นระดับที่ต่ำมาก จากเมื่อก่อนอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยที่ 15-17% ดังนั้น ในช่วงจากนี้ไป จึงต้องเน้นหนักในเรื่องการปรับสัดส่วนอัตราการทำกำไรให้กลับขึ้นมาสู่ภาวะปกติก่อน โดยจะเน้นในเรื่องการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพธุรกิจหลักให้มีการเติบโตขึ้นมาได้อีก เพื่อให้มีมาร์จิน (กำไร) ที่ดีขึ้น เน้นเรื่อง Cash (เงินสด) ให้มากขึ้น

"ล่าสุด ในไตรมาสแรกปีนี้ หนี้สินต่อทุนเราอยู่ที่ประมาณ 1.35 เท่า จะพยายามทำให้อยู่ในระดับ 1-1.2 เท่า เพื่อยังคงรักษาความสามารถในการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรในแต่ละปีเช่นเดิม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว ภายในช่วง 2 ปีนับจากนี้ น่าจะได้เห็น ถ้าไม่มีการลงทุนเพิ่มเยอะ ๆ หนี้ควรต้องลดลง ส่วนการลงทุนใหม่ ก็จะดูการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าให้กับเรา และสร้างอัตรากำไรที่สูงขึ้นกว่าธุรกิจหลัก ซึ่งในเรื่อง M&A เราก็ค่อย ๆ ดูไป แต่ไซซ์คงไม่ใหญ่ ณ วันนี้ ยังไม่มีสาระสำคัญอะไรมาก แต่เป็นการปูทางสำหรับอนาคต"

 

[caption id="attachment_293642" align="aligncenter" width="503"] © www.thaiunion.com © www.thaiunion.com[/caption]

รุกเอเชียแทนอเมริกา
สำหรับภูมิภาคเอเชีย บริษัทให้ความสนใจลงทุนและขยายตลาดในช่วงนี้เป็นพิเศษ ได้แก่ จีน อินเดีย กลุ่มอาเซียน และตลาดในประเทศ จากเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีอนาคตที่ดี ขณะที่ ภูมิภาคอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นยอดขายหลักของบริษัท (สัดส่วน 40 และ 33% ของรายได้รวม ตามลำดับ อีก 10% เป็นตลาดในประเทศ ที่เหลือเป็นตลาดอื่น ๆ) เกือบไม่มีการเติบโต ความคืบหน้าตลาดจีนได้ผนึกเป็นพันธมิตรกับ อาลีบาบา กรุ๊ป ในการขายสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลสด และแช่แข็ง สินค้าหลัก คือ กุ้งล็อบสเตอร์ (เป็นสัดส่วนรายได้ 70% ในจีน) และแซลมอน ขายผ่านช่องทางออนไลน์ของอาลีบาบา และออฟไลน์ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตของอาลีบาบา ที่ชื่อว่า Hema โดยตลาดจีนเติบโตอย่างน่าพอใจ ขยายตัวเลข 2 หลัก คาดในปี 2563 จะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านหยวน

 

[caption id="attachment_292030" align="aligncenter" width="503"] Thai Union Fish Production Line Thai Union Fish Production Line[/caption]

ตลาดอินเดีย ปัจจุบันมีการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ในส่วนของอาหารกุ้งและการผลิตกุ้งแช่แข็งเพื่อการส่งออก และจะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพิ่มเติม ส่วนอาเซียน จะไปหาโลคัลพาร์ตเนอร์ เช่น ในมาเลเซีย สิงคโปร์ เพื่อส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายให้มากขึ้น ส่วนในประเทศได้เข้าลงทุนใน บริษัท ธรรมชาติซีฟู้ดฯ สัดส่วนเบื้องต้น 25% (จะเพิ่มเป็นมากกว่า 50% ใน 2 ปีข้างหน้า) ซึ่งบริษัทเป็นผู้บริหารอาหารทะเลในซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 157 จุด และเป็นเจ้าของร้านอาหารทะเลอีก 5 แห่งในไทย จะทำให้บริษัทมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น

"ในต่างประเทศ บริษัทยังได้ตั้งโรงงานผลิตทูน่าออยล์ในเยอรมนี คาดโรงงานจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. ปีนี้ โดยทูน่าออยล์มี DHA สูง และเป็นส่วนผสมสำคัญในนมผงทารก ซึ่งเป็นอีก 1 สินค้าที่มีอนาคต เพราะสกัดจากทูน่าที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สุดของโลกอยู่แล้ว โดยใช้วัตถุดิบมากกว่า 5 แสนตันต่อปี ซึ่งจะทำให้บริษัทเป็นผู้ผลิตทูน่าออยล์รายใหญ่สุดของโลกด้วย"

 

[caption id="attachment_293643" align="aligncenter" width="503"] © www.thaiunion.com © www.thaiunion.com[/caption]

สารพัดเสี่ยงต้องฝ่า
'ธีรพงศ์' กล่าวอีกว่า วันนี้ธุรกิจของบริษัทมีความท้าทายมาก จากทุกส่วนของแวลูเชนมีการ Disrupt (ถูกกระแทกทำให้สะดุด) ทั้งจากผู้ค้าปลีกทั่วโลกในแต่ละประเทศ มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น มีการควบรวมกันมากขึ้น หมายความว่า จำนวนผู้ประกอบการก็ลดน้อยลง ทำให้การต่อรองจะลำบากมากขึ้น ขณะที่ แง่วัตถุดิบถูก Disrupt จากความยั่งยืนของวัตถุดิบ มีผลทำให้เกิดต้นทุนในแง่ของวัตถุดิบมากขึ้น จากเรื่องของการประมงที่ถูกต้อง การทำฟาร์มที่ถูกต้อง การปฏิบัติต่อแรงงานที่ถูกต้อง เรื่องเหล่านี้มีผลกระทบหมด ในขณะที่ ราคาขายก็ปรับสูงขึ้นได้ไม่ง่าย ความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้รักษาอัตราการทำกำไรได้เหมือนเดิม

"เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีอินโนเวชัน การสร้างสินค้า และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับผู้บริโภคให้มากขึ้น ขณะที่ ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราจะตามความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่บริษัทต้องฝ่าไปให้ได้ ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วันนี้ผมว่า รายได้ไม่ใช่ Priority หลักของเรา ที่สำคัญ คือ กำไร เพราะถ้าดูแต่การขายวันนี้ เราสามารถบริหารให้ถึงเป้า หรือเกือบ 8,000 ล้านดอลลาร์ ได้อยู่แล้ว เฉพาะในเรดล็อบสเตอร์อย่างเดียวก็ 2,500 ล้านดอลลาร์แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้เอาเข้ามารวม"


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 วันที่ 24-27 มิ.ย. 2561 หน้า 08

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ไทยยูเนี่ยนเดินหน้า สร้างผู้บริหารรุ่นใหม่
ไทยยูเนี่ยนฯผนึกรัฐ-เอกชนจัดวิ่งสมุทรสาครพันท้ายนรสิงห์ฯ#19


e-book-1-503x62