เศรษฐเสวนา ... จุฬาฯ ทัศนะ | ความมั่นคงในมนุษย์ ... ภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย (ตอน 1)

09 พ.ค. 2561 | 06:48 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

090561-1333 07-3364

ภายใต้สภาวการณ์ในโลกปัจจุบัน การพัฒนาและการเติบโตของระบบเทคโนโลยีด้านข้อมูล การสื่อสาร การใช้ Social Media อย่างก้าวกระโดด ทำให้การรายงานเหตุการณ์ในประเทศ ในต่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนท่าทีของประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีเหนือ เหตุการณ์ในประเทศซีเรีย เหตุการณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

การรายงานข่าว เช่น การพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ข่าวอาชญากรรม ข่าวปากท้องของชาวบ้าน ข่าวการเมือง ทำให้ดูเหมือนคนไทยมีชีวิตในแต่ละวันท่ามกลางความสับสนของข่าวต่าง ๆ แต่ละคนจะมีวิธีจัดการปัญหาแตกต่างกัน ขึ้นกับประสบการณ์และภูมิหลังของตนหรือของครอบครัว การลงทุนในมนุษย์ ดูเหมือนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในทุกยุคสมัย โดยลงทุนผ่านโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาและการสาธารณสุข จนมาปัจจุบัน เริ่มมีคำถามมากขึ้นทุกที ถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบ เช่น หากดูว่างบประมาณประจำปีของรัฐบาลที่ทุ่มไปยังด้านการศึกษาและสาธารณสุข จะพบว่าเป็นสัดส่วน 36.6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 คือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านนี้

 

[caption id="attachment_279827" align="aligncenter" width="480"] ©shivafoundation.org.uk ©shivafoundation.org.uk[/caption]

กรอบแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) จากการเสนอของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ โดยมีเป้าหมายเกี่ยวกับมนุษย์ 2 ประการ คือ 1.มนุษย์ทุกคนจะต้องปลอดจากความกลัว (Freedom from Fear) 2.ปลอดจากความขาดแคลน หรือ ความต้องการ (Freedom from Want) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่ปรากฏในรายงาน "การพัฒนามนุษย์ ค.ศ. 1994" ของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดความมั่นคงของชาติ อันประกอบด้วยรัฐและดินแดนมาเป็นความมั่นคงของประชาชนในฐานะองค์กรประกอบพื้นฐานของชาติ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการผลักดันแนวคิดใหม่ เรื่องความมั่นคงของมนุษย์ในการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (จากมติคณะรัฐมนตรี-พุธที่ 31 ส.ค. 2548)

ต่อมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ดำเนินการศึกษามาตรฐานและตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) หมายถึง การที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ประกอบด้วย ความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 10 มิติ โดยมีแนวทางต่าง ๆ ในที่นี้จะเน้นที่แนวทางแรก คือ ความมั่นคงของมนุษย์ด้านการมีงานทำและรายได้ และความมั่นคงของมนุษย์ด้านสุขภาพอนามัย

 

[caption id="attachment_279828" align="aligncenter" width="503"] ©ANAM HALEEM ©ANAM HALEEM[/caption]

ปัญหา คือ แล้วคนไทยตระหนักตื่นรู้เข้าใจในด้านความมั่นคงของมนุษย์ในระยะยาวอย่างไร หากเราลองถามคนรู้จักคนรอบข้างตัวเรา ก็คงได้คำตอบแตกต่างกัน ประเด็นเหล่านี้ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า ระบบเศรษฐกิจมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะด้านการมีงานทำและรายได้ และด้านสุขภาพอนามัย


07-3364-27

จากการศึกษาวิจัยโครงการการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ความมั่นคงของมนุษย์ และรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว (ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ, Asst.Prof Dr.Chantal Herberholz, ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล พ.ศ. 2560) มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ คนรุ่นใหม่มักเลือกงาน สถานที่ทำงาน ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามากกว่าด้านสวัสดิการ ทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านการออมความมั่นคงในระยะยาว จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจระหว่าง 2 ช่วงเวลา คือ ปี 2544 เทียบกับปี 2550 และปี 2550 เทียบกับปี 2554 พบว่า ในช่วงปี 2544-2550 สาขาการผลิตส่วนใหญ่ในระดับภาคนั้น มีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับระดับประเทศ แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2554 พบว่า สาขาการผลิตส่วนใหญ่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศลดลง แต่มีความสามารถแข่งขันในเชิงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้แรงงานที่ลดลง และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างอุตสาหกรรมที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ด้อยกว่ายากลำบากขึ้น นอกจากนั้น ในภาพรวมแล้วการวิเคราะห์โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ พบว่า สาขาการผลิตส่วนใหญ่มีค่าตัวทวีการจ้างงานลดลง อาจทำให้การดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ต้องการการกระตุ้นการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมายได้ยากขึ้น


Laber-1

โดยประเด็นที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ คือ หากระบบเศรษฐกิจมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อปัจจัยแรงงาน แม้ว่าสาขาการวิจัยที่เป็นสาขาเป้าหมายตามแผนการพัฒนาจะเป็นสาขาการผลิตที่มีค่าทวีการจ้างงานสูงที่สุดก็ตาม แต่ก็มีแนวโน้มลดลง และอาจมีการนำเข้าปัจจัยทุนมากขึ้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ นโยบายที่สำคัญ คือ การปรับทัศนคติของแรงงานและผู้ประกอบการให้เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การเพิ่มทักษะของแรงงาน ตามแนวทางการพัฒนาประเทศมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณในการปรับโครงสร้างการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ให้ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นของการแข่งขันด้านการเพิ่มผลผลิตและนวัตกรรม อาทิเช่น ยกระดับตลาดลงทุนไทย ให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของตลาดโลก โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน ที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าและการลงทุน (ระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีประสิทธิภาพอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์) โดยพัฒนา/สนับสนุน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการลงทุนในชุมชน/เมือง เพิ่มจำนวนฝีมือแรงงาน (Skill Labor)


apptoyota73

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรพิจารณาจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานขั้นสูงนานาชาติ เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพของแรงงานในประเทศ ให้มีทักษะในการประกอบอาชีพและทักษะทางด้านภาษา รวมถึงประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์การลงทุนภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในสาขาการผลิตที่มีศักยภาพมากขึ้น

สำหรับประเด็นความมั่นคงของมนุษย์ด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเช่นกัน จะมาต่อในฉบับหน้า


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา ... จุฬาฯ ทัศนะ โดย ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ ศาสตราภิชาน เงินทุนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำบางเวลาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,364 วันที่ 10-12 พ.ค. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐกิจไทยแกร่ง! มั่นใจจีดีพีปีนี้พุ่ง 4.5%
โพลเผย ปชช. 45.92% ชี้! ภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา "แย่ลง"


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว