กลุ่มพลังงานดิ้นเฮือก ‘บางจาก-ไทยออยล์’รอดตัวได้ค่าการกลั่นพยุง

22 ม.ค. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธุรกิจพลังงาน ดิ้นปรับตัวกัดฟันน้ำมันโลกดิ่งแตะ 23 ดอลล์ระยะสั้น แต่รับขาดทุนสต๊อกน้ำมันแล้ว "บางจาก" ชี้ราคาถูกยิ่งจูงใจคนใช้เพิ่ม ผนวกค่าการกลั่นยังสูง มั่นใจดัน Ebitda ปีนี้โต 20% “ไทยออยล์” ทำเฮดจิ้งตั้งแต่ราคาหลุด 31 ดอลล์-ควบคุมสต๊อกให้ตํ่าสุด โบรกฯฟันธง พลังงานเกี่ยวข้องโรงกลั่นยังได้อานิสงส์ ประเมินหากไนเม็กซ์แตะ 25 ดอลล์ ดัชนีตลาดมีโอกาสแตะ 1,183 จุด คาดกำไรสุทธิ ปตท.สผ.ปี 59 หด 28%

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวในกรอบ 23-24 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเข้าใกล้ระดับราคาต่ำสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอิหร่านที่คาดว่าจะเพิ่มการส่งออกในเร็วๆนี้ ทำให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาดอยู่แล้วยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ตลาดจับตาการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2558 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ประเมินว่าหากเศรษฐกิจจีนเติบโตน้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 6.9% จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันและปรับลดลงต่อเนื่องได้

ต่อสถานการณ์ว่าราคาน้ำมันโลกที่ยังคงผันผวนในทิศทางขาลงจะส่งผลต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันในปีนี้หรือไม่ และธุรกิจจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร

 รับขาดทุนสต๊อกน้ำมันบ้าง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับลดลงจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปัจจุบันลงมาอยู่ที่ 23-24 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาร์เรล ยอมรับว่ามีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันบ้าง แต่โรงกลั่นบางจากก็มีการปรับตัว เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเหมือนกับปี 2558 ที่ราคาเมื่อช่วงต้นปีอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ปลายปีอยู่ที่ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นเรื่องที่โรงกลั่นเตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยในปีนี้บางจากทำประกันความเสี่ยง(Hedging) ที่ระดับ 30% ของค่าการกลั่น

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมา จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกคือน้ำมันที่ต้องมีสต๊อกไว้ตามกฎหมาย ราคาจะเป็นไปตามสภาพของตลาดโลก อาจส่งผลขาดทุนทางบัญชี และส่วนที่สองคือส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับดีเซลยังต่ำ เพราะมีการผลิตมาก ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับเบนซินยังสูงอยู่ นอกจากนี้กำลังการกลั่นจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย โดยในปีนี้บางจากกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 แสนบาร์เรลต่อวัน

 คนใช้เพิ่มดันกำไร"อีบิทด้า"โต 20%

สำหรับค่าการกลั่นในปีนี้แม้จะรับผลกระทบจากราคาน้ำมัน แต่ก็คาดว่ายังดีต่อเนื่องจากปีที่แล้วเฉลี่ย 8-9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่โรงกลั่นน้ำมันอยู่ได้ ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันหน้าสถานีบริการที่ลดลงส่งผลดีต่อผู้บริโภค และทำให้ยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการบางจากเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามประมาณว่าการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% จากปีก่อน เนื่องจากน้ำมันมีราคาถูกลง โดยในปี 2559 บางจากตั้งเป้ากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (Ebitda) อยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีที่แล้ว

"ราคาน้ำมันดิบในปีนี้จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่เชื่อว่าจะเป็นช่วงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการโรงกลั่นก็ต้องปรับตัว แต่ส่วนตัวมองว่ายิ่งเป็นแรงจูงให้ให้เกิดการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ดังนั้นควรใช้น้ำมันอย่างระมัดระวัง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า"

 "ไทยออยล์"เลือกใช้น้ำมันอิหร่าน

ด้านนายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากการที่อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลกในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลดีต่อโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เนื่องจากเป็นน้ำมันคุณภาพ-ราคาถูก ทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิต ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยงของบริษัทอีกทางหนึ่ง ที่จะไปเลือกใช้น้ำมันดิบจากอิหร่านเป็นวัตถุดิบในการกลั่นน้ำมัน

อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบที่ปรับอยู่ในระดับต่ำนั้น คาดว่าจะเป็นระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งการบริหารจะสต็อกน้ำมันดิบให้ต่ำสุดเพียงพอกับกำลังการกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ ,สำรองน้ำมันตามกฎหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น และรักษากำลังการผลิตป้อนน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ต้องทำอย่างระมัดระวัง ไม่ให้สต๊อกมากจนเกินไป

ทั้งนี้ การบริหารความเสี่ยงในช่วงนี้ไทยอออยล์ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ราคาน้ำมันดิบลงมาในระดับ 31 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันลงมาในระดับ 23-24 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จึงไม่น่าจะมีผลต่อการดำเนินงาน เพราะได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าไว้แล้ว

 23 ดอลล์แค่ระยะสั้น

นอกจากนี้แม้ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลงไปมาก แต่ค่าการกลั่นขณะนี้ ก็ยังทำให้ไทยออยล์มีกำไรจากค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ประมาณ 6-7 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ และมีเงินเหลือที่จะนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่นได้ ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นออกมา โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินยังมีความต้องการใช้ค่อนข้างมากและมีส่วนต่างของราคาวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์มาก จึงทำให้บริษัทฯมีกำไรในส่วนนี้มาชดเชยรายได้ในส่วนอื่นๆ

ขณะที่ผลกระทบนั้นอาจจะมีผลขาดทุนทางบัญชีจากการสต็อกน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมาบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ซึ่งจะต้องรอดูตัวเลขในช่วงครบ 3 เดือนอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนราคาน้ำมันดิบจะลงไปต่ำกว่า 23 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่นั้น โอกาสก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็คงเป็นระยะสั้นเช่นกัน อย่างไรก็ดีจะกระทบอุตสาหกรรมน้ำมันแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะบริหารความเสี่ยงกันอย่างไร ซึ่งไทยออยล์มองว่า แม้ราคาน้ำมันจะลงไปมากกกว่านี้ ก็ยังพอที่จะบริหารมีกำไร เพราะจะกลั่นน้ำมันที่มีมูลค่าสูงอย่างน้ำมันเบนซินได้ในสัดส่วนที่มาก และเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งกำลังการผลิตของโรงกลั่นใหม่ๆของโลกเมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็เข้าสู่ตลาดลดลง ทำให้ส่วนเหลือของการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จึงทำให้ค่าการกลั่นยังอยู่ระดับที่พอจะรับได้

  แตะ 25 ดอลล์ หุ้นปตท.178 บาท

ด้านความเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยทำลายกำแพง 30 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาเรล เรียบร้อย ล่าสุดวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา น้ำมันดิบไนแม็กซ์ (Nymex) เคลื่อนไหวที่ระดับ 28 กว่าดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2559 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 25-40 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาร์เรล เนื่องจากยังคงมีอุปทานส่วนเกินในตลาดจากการส่งออกของอิหร่านและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ด้านอุปสงค์ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจจีน

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน บมจ.บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย กล่าวว่า ภายใต้ความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และประเด็นผลผลิตน้ำมันจากอิหร่าน อาจทำให้ราคาน้ำมันไนแม็กซ์ ปรับตัวลงต่อถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาเรล ทั้งนี้จากการทดสอบสถิติข้อมูลย้อนหลัง 3 เดือน พบว่าราคาน้ำมันแปรผันโดยตรงต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย หุ้นบมจ.ปตท.(PTT ) และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) สูงมาก

"หากราคาน้ำมันปรับตัวลงไปถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาเรล จะมีผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯให้ลงไปทดสอบ 1,183 จุด หุ้นPTT จะร่วงลงไปที่ 178 บาทต่อหุ้น ส่วนหุ้นPTTEP จะลงไปที่ 33.7 บาท "นายประกิต กล่าว และว่า

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า การปรับตัวลงแรงของราคาน้ำมันจะส่งผลลบต่อกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มสำรวจและผลิตที่จะได้รับผลกระทบทันที ส่วนธุรกิจที่น่าจะได้รับผลดีนั้น ทางบล.โกลเบล็ก และโบรกเกอร์รายอื่นมองตรงกันว่า คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโรงกลั่น เพราะปัจจุบันระดับค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับที่สูง และได้รับผลดีจากปริมาณการผลิตน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกลงทุนในกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลดีจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง

 "ปตท.สผ." เสี่ยงบันทึกด้อยค่า

นักวิเคราะห์บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า จากการร่วมประชุมกับผู้บริหารบมจ.ปตท. สำรวจและผลิตฯ หรือ PTTEP ทางบริษัทได้แจ้งถึงกรณีการบันทึกด้อยค่าไปในไตรมาส 3/58 ที่ผ่านมายังไม่มีความจำเป็นต้องบันทึกด้อยค่าเพิ่มเติม

โดยแม้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะปรับตัวลงสร้างจุดต่ำใหม่ที่ 29 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบดูไบสร้างจุดต่ำใหม่ที่ 26 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งทางบริษัทและผู้ตรวจสอบบัญชีมองว่าเป็นการปรับตัวลงชั่วคราวจึงยังไม่มีการบันทึกด้อยค่าเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลอีก 3-6 เดือนจะมีความเสี่ยงในการบันทึกด้อยค่าเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันราคาสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนต์ล่วงหน้าอายุ 1-3 ปีปรับตัวลงจากที่ PTTEP ใช้อ้างอิงการบันทึกด้อยค่าในไตรมาส 3 แล้วกว่า 10 ดอลาร์สหรัฐฯฯต่อบาร์เรล

  คาดปี 59 กำไรหมื่นล้าน ทรุด 28 %

ส่วนนักวิเคราะห์บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ ประเมินว่า ไตรมาส 4/58 ของ PTTEP จะมีกำไรสุทธิประมาณ 6.5 พันล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากงวดไตรมาส 3/58 ที่ขาดทุน 4.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลดำเนินงานปกติมีกำไร ส่วนงบปี 2558 คาดว่าจะขาดทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 3.5 หมื่นล้านบาท ประเมินจ่ายปันผลในครึ่งปีหลัง 0.50 บาทต่อหุ้น

อีกทั้งได้ปรับประมาณการกำไรปี 2559 ลดลง 28% โดยจะมีกำไรสุทธิ 1.07 หมื่นล้านบาท ตามสมมติฐานใหม่ของราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2559 ที่ 42 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และงบลงทุนที่ปรับลดลงในช่วงปี 2559-2563 นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะปรับกำไรปี 2559 ลดลงอีก หากราคาน้ำมันดิบดูไบต่ำกว่าที่คาดไว้มาก

นายตรีพล ภูมิวสนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บลจ.เมย์แบงก์ ฯได้ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นปตท.มานานกว่า 1 ปีแล้ว หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลงต่อเนื่อง และไม่สามารถคาดการณ์ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากจะลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานนั้นอาจจะลงทุนในบริษัทลูกของปตท.แทนโดยเป็นธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559