จับตา ‘ข้าวจีนข้าวลูกผสม’ ผงาดตลาดโลก

06 มี.ค. 2560 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

M20-3241-C ในการจัดแถลงข่าว “แหล่งข้าว TOP 10 ของจีน” โดยกรมข่าวสารการตลาดและเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรจีน ได้สร้างความตื่นตัวต่อตลาดข้าวทั่วโลกไม่น้อย จากประเทศที่เคยประสบภาวะทุพโภชนา ผลิตข้าวไม่เพียงพอเลี้ยงประชากร กระทั่งยุคหนึ่งต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปหากินเมืองอื่นที่อุดมสมบูรณ์กว่า ณ วันนี้ ประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่อย่างจีน สามารถลดการขาดแคลนข้าวได้เป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาภายในเวลาเพียง 10 ปี

ย้อนไปเมื่อปี 2527 จีนได้ตั้งศูนย์วิจัยข้าวลูกผสม “Hunan Hybrid Rice Research Center” (HHRRC) ขึ้นในนครฉางซา มณฑลหูหนาน โดยมีนาย หยวน หลงผิงผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสมของจีนขณะนั้น เริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง พร้อมยกระดับจากหน่วยงานวิจัยระดับมณฑลสู่ระดับประเทศได้สำเร็จในปี 2538 กลยุทธ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับข้าวถูกรวบรวมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์ของจีนและได้ผลผลิตที่คุ้มค่า ล่าสุดในปี 2558 พบว่า จีนมีศักยภาพในการปลูกข้าวได้มากถึง 208.25 ล้านตันบนพื้นที่ทั่วประเทศราว 188 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิต 1,100 กก./ไร่ ขณะที่ไทย เมียนมา และ สปป.ลาว ยังคงกำลังผลิตข้าวได้ อยู่ที่ 450-460 กก./ไร่ นับว่าความสำเร็จของจีนครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญทางการเกษตร ซึ่งจะเรียกว่าก้าวกระโดดก็คงไม่ผิดจากข้อเท็จจริงมากนัก

เมื่อเจาะลึกขั้นตอนการพัฒนา “ข้าวจีน” เริ่มจากการคัดข้าวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ข้าวเป็นหมันเสียก่อน เพื่อป้องกันการผสมเกสรในตัวเอง จากนั้นนำมาผสมด้วยเทคโนโลยีจนได้ลักษณะที่ต้องการและเหมาะสมกับภูมิศาสตร์ท้องที่นั้น ๆ ทดลองปลูกในพื้นที่เกษตรอย่างน้อย 2-3 ฤดูกาล เพื่อศึกษาหาวิธีการเพาะปลูกที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมกับการดูแลใส่ปุ๋ย เน้นเสริมความแข็งแรงของราก การดูดซึมที่ดี สร้างการต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ไม่ต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นต้น ทั้งนี้การเพิ่มผลผลิตข้าวไม่ใช่เป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียว หากแต่ศูนย์วิจัยข้าวลูกผสมยังคงพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยนำข้าวหอมมะลิไทย มาใช้เป็นเกณฑ์ต้นแบบเปรียบเทียบพัฒนาให้ใกล้เคียงที่สุด แม้ปัจจุบันยังทำไม่สำเร็จ100% ก็ตาม

สำหรับด้านการตลาด “จีน” ได้สร้าง “story” ที่มาของข้าวแต่ละประเภทได้อย่างน่าสนใจ หรือแม้แต่การอิงตามการรับรองข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indications ) ให้ข้าวเหล่านั้นเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ Premium ตอบโจทย์รสนิยมคนจีนที่มีรายได้สูงและผู้ที่รักสุขภาพ อาทิ พันธุ์ที่หายาก เคยเป็นข้าวที่ถวายแด่องค์ฮ่องเต้มาก่อน ปลูกได้เฉพาะแหล่งที่มีน้ำแร่ไหลผ่าน แหล่งปลูกเป็นหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้รสชาติดีมีแร่ธาตุสำคัญอย่างแคลเซียม แมกนีเซียม หรือการเน้นการเป็นข้าวออร์แกนิกคุณภาพปลอดสารพิษ สิ่งเหล่านี้นับเป็นการหยิบเอาคุณสมบัติพิเศษขึ้นมาเพื่อสร้างแบรนด์ หวังให้เกิดกระแสต้องการให้เป็นที่รู้จักในตลาดข้าวโลกได้ในไม่ช้า

เรื่องราวของข้าวจีน สามารถยืนยันได้ว่า “เทคโนโลยีมีส่วนช่วยสำคัญต่อการพัฒนาสินค้าภาคการเกษตรสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้” ดังนั้นเมื่อเทียบกับ “ข้าวไทย”ข้าวคุณภาพที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก มีพื้นฐานหรือ “story” ภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งมานาน โดดเด่นด้วยคุณค่าและยังคงเป็นที่ยอมรับ เชื่อว่า “ข้าวไทย” ยังมีอนาคตที่สดใส เมื่อชาวนาผู้ปลูกข้าวไทยรู้จักการต่อยอดเทคโนโลยีได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ ไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าและสร้างแบรนด์ของตนเอง เพื่อรักษาตลาดเก่าและเจาะตลาดใหม่ นั่นหมายถึงความสำเร็จที่สอดคล้องกับนโยบาย “Smart Farmer” สู่ “Thailand 4.0” อีกโมเดลสำคัญ ของรัฐบาล ที่ส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร เพื่อเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศต่อไป

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560