นโยบายศก.ทรัมป์ โอกาสสินค้าไทยตอบโจทย์เศรษฐกิจโฉมใหม่ของสหรัฐฯ

03 มี.ค. 2560 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การแถลงนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ... โอกาสสินค้าไทยตอบโจทย์เศรษฐกิจโฉมใหม่ของสหรัฐฯ

การแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสครั้งแรกของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ยังคงฉายภาพกว้างของนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษีเงินได้ให้แก่ชนชั้นกลาง โครงการ  “National Rebuilding” หรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ภายใต้แผนงานหลัก “Buy American and Hire American” เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ ซึ่งผลที่จะตามมายังต้องจับตาห้วงเวลาในการนำนโยบายต่างๆ มาใช้ต่อไป

นัยของการแถลงนโยบายในครั้งนี้ได้สะท้อนท่าทีผ่อนคลายแรงกดดันของการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ จากการประกาศสนับสนุนกรอบการค้าเสรี (Free Trade) แต่ต้องเป็นการค้าที่มีความเป็นธรรม (Fair Trade) ชี้ว่ามาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯ จะหยิบยกขึ้นมาจากนี้ไปน่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของธุรกิจในประเทศและมีท่าทีรอมชอมมากขึ้น ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ อาจใช้การเก็บภาษี Border Adjustment Tax (BAT) เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าและการกระตุ้นการส่งออกผ่านการปรับโครงสร้างต้นทุนภาคการผลิต แม้จะยังไม่ระบุรายละเอียดและเงื่อนไขทางภาษีที่ชัดเจน แต่วัตถุประสงค์หลักของนโยบายนี้ไม่เพียงต้องการสนับสนุนให้เกิดการผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศ แต่ยังมีเป้าหมายที่การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีน เม็กซิโก รวมถึงประเทศที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาเป็นมูลค่าการขาดดุลการค้าและมีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เรื่อยมา โดยเฉพาะการขาดดุลการค้ากับจีนและเม็กซิโกในระดับสูงถึง 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ และ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากมีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษี BAT เกิดขึ้นจริง ด้วยท่าทีที่อ่อนลงในการกีดกันทางการค้า ทางการสหรัฐฯ ก็น่าจะกำหนดขอบข่ายในการบังคับใช้ ทั้งอัตราการเก็บภาษีและรูปแบบการจัดเก็บเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการผลิตและการบริโภคในประเทศ โดยอาจมุ่งเน้นไปที่การเก็บภาษีสินค้านำเข้าขั้นสุดท้ายเป็นหลักเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และผลักดันให้เกิดการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศเอื้อผลบวกต่อธุรกิจในประเทศมากขึ้น สำหรับในกรณีของไทย ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทย ซึ่งไทยอยู่ในลำดับที่ 11 และมีมูลค่าขาดดุลการค้าราว 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับจีนและเม็กซิโก อีกทั้ง สินค้าไทยก็มีลักษณะต่างจากจีนและเม็กซิโก

โดยหากการเก็บภาษีจำกัดเฉพาะสินค้าขั้นสุดท้าย สินค้าไทยจึงยังมีโอกาสได้อานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้ และเป็นสินค้าที่สอดคล้องกับธุรกิจที่จะกลับขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ตามนโยบายกระตุ้นการลงทุนและการผลิตในประเทศ อาทิ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น

นอกจากนี้ นโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินการคงส่งผลกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐฯ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน อันมีผลสะท้อนกลับมายังโอกาสการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ใน 2 มิติ ดังนี้

ในมิติของการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภคไปยังสหรัฐฯ :  มาตรการต่างๆ ตามแผนงานของสหรัฐฯ นั้น ล้วนมุ่งไปที่การจ้างงานและสร้างรายได้ในการบริโภคให้แก่ชาวอเมริกัน ตอกย้ำว่าหากนโยบายที่นำออกมาใช้เป็นไปตามเป้าหมาย ในท้ายที่สุดการบริโภคของสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็จะยิ่งมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆ มากขึ้นอีก ดังจะเห็นได้จาก รายงานการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดไตรมาส 4/2559 (ครั้งที่ 2) GDP ขยายตัวร้อยละ 1.9 (QoQ, SAAR) ซึ่งการเติบโตของการบริโภคเป็นแกนนำการเติบโตโดดเด่นร้อยละ 3.0 (QoQ, SAAR)

ในประเด็นนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดนั้น แต่สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่มีความโดดเด่นที่สามารถดึงดูดการบริโภคของชาวอเมริกันได้อย่างเหนี่ยวแน่นและสหรัฐฯ ผลิตได้ไม่เพียงพอมีโอกาสทำตลาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ผลไม้กระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้าน เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ทำตลาดสหรัฐฯ ได้ดีจำกัดอยู่เพียงกลุ่มอาหารเป็นหลัก ซึ่งสหรัฐฯ มีความต้องการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของโครงสร้างการนำเข้าทั้งหมด ขณะความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมด สะท้อนว่า หากธุรกิจไทยสามารถเข้าใจในพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกัน รวมถึงปรับตัวให้ผลิตสินค้าสอดคล้องกับความต้องการที่มี จะยิ่งสนับสนุนการส่งออกของไทยให้เติบโตได้อีกมาก อาทิ อาหารปรุงแต่ง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์จากยาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความสะดวกสบาย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น

มิติของการเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ ควรเตรียมปรับตัวในระยะต่อไปจากผลของมาตรการลดภาษีเงินได้และมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ: จะเห็นได้ว่านโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับจากนี้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการผลิตและการจ้างงานในประเทศเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลดต้นทุนการทำธุรกิจด้วยมาตรการลดภาษีเงินได้ รวมถึงมาตรการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยเม็ดเงินขนาดใหญ่ ซึ่งในเบื้องต้น เป็นการโน้มนำให้นักลงทุนที่มีแผนขยายฐานการผลิตเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ แทนการออกไปลงทุนยังต่างประเทศอาจเผชิญอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในการส่งสินค้ากลับมาจำหน่ายในสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า โดยธุรกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและมีฐานการผลิตในต่างประเทศน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่หันกลับมาขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ตอบรับนโยบายดังกล่าว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นต่างๆ ทำให้ความต้องการสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในสหรัฐฯ เร่งตัวมากขึ้น ขณะที่สาขาการผลิตของบริษัทข้ามชาติ (MNC) ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในต่างประเทศก็ยังคงมีอยู่แต่อาจมีบทบาทลดลงบางส่วน

ดังนั้น ในระยะต่อไป ต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงของนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยที่ส่งออกไปป้อนการผลิตในประเทศที่เป็นฐานการผลิตของ MNC ในประเทศต่างๆ และมีปลายทางการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจได้รับผลจากการปรับผังโครงสร้างการผลิตตามนโยบายของบริษัทแม่ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโยกย้ายสายการผลิตที่มีศักยภาพพอจะขยายตลาดและสร้างกำไรจากการเพิ่มการลงทุนที่สหรัฐฯ และลดกำลังการผลิตในต่างประเทศ อาทิ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น ที่เป็นเป้าหมายหลักในการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งในประเด็นนี้ ผลที่ย้อนกลับมายังการส่งออกของไทยมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ 1) สินค้าวัตถุดิบของไทยที่ตรงกับสายการผลิตที่ขยายฐานการลงทุนในสหรัฐฯ จะถูกโยกการส่งออกจากไทยตามไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และ 2) การผลิตที่เน้นต้นทุนต่ำที่ยังต้องพึ่งฐานการผลิตในต่างประเทศ ที่ก็น่าจะยังคงดำเนินการผลิตในต่างประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่าสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบขั้นต้นของไทยก็ยังส่งออกไปตลาดเดิม

โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากผลของนโยบายปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว ภายใต้มุมมองที่ว่านโยบายการขึ้น BAT ยังไม่มีผลต่อไทยอย่างมีนัยสำคัญนัก และกว่านโยบายจะนำมาใช้ได้จริงน่าเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 รวมทั้งผลของนโยบายที่ส่งผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจก็อาจจะเริ่มเห็นในปี 2561

ด้วยมุมมองข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 ยังคงเติบโตต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 สามารถรักษาระดับการเติบโตได้ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3-2.5 มีมูลค่าการส่งออก 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่สัญญาณการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่า 1,931 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อนทำให้ขยายตัวค่อนข้างดีร้อยละ 9.5 (YoY) ทั้งนี้ หากการส่งออกไปสหรัฐฯ ในเดือนต่อไปรักษาระดับการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง รวมทั้งผลการเร่งตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรากฏชัดเจนขึ้น ก็มีโอกาสที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจจะปรับเพิ่มประมาณการในระยะข้างหน้า

สำหรับในระยะต่อไปยังต้องติดตามพลวัตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อบวกกับแนวทางการกีดกันทางการค้าที่มีต่อจีน เม็กซิโก รวมถึงประเทศอื่นที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ อาจสร้างแรงกดดันต่อห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับธุรกิจของไทยปรับเปลี่ยนเป้าหมายตลาดตามนโยบายบริษัทแม่ โดยบางส่วนอาจส่งออกตรงไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการส่งออกไปยังฐานการผลิตในประเทศที่ 3 ที่อาจถูกลดบทบาทลงตามความเข้มข้นของการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย