บิลลิ่งขยับ เรตติ้งกระเพื่อม "ทีวีดิจิตอล"ลุ้นเหนื่อย ช่อง 8 ยันสัญญาณดีเม็ดเงินผู้บริโภคเริ่มจับจ่าย หลังเมกะโปรเจ็คภาครัฐเดินหน้า สวนทางผลประกอบการปี 59 ร่วงกราวรูด
ผลประกอบการของบริษัททีวีดิจิตอลในปี 2559 ที่ทยอยเปิดเผยออกมาบ่งชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจทีวีดิจิตอลเมืองไทยยังต้องเหนื่อยต่อไป กับการสร้างรายได้และเรตติ้ง โดยพบว่า 4 ใน 6 บริษัทอยู่ในภาวะขาดทุน ได้แก่ เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ผู้บริหารช่องเนชั่นทีวี และ นาว ขาดทุน 1,102 ล้านบาท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ผู้บริหารช่องอมรินทร์ทีวีขาดทุน 628 ล้านบาท โมโน เทคโนโลยี ผู้บริหารช่องโมโน 29 ขาดทุน 249 ล้านบาท และอาร์เอส ผู้บริหารช่อง 8 ขาดทุน 102 ล้านบาท ขณะที่บีอีซี เวิลด์ ผู้บริหารช่อง 33 (ช่อง 3 HD) ช่อง 28 (ช่อง 3 SD) และช่อง 13 แฟมิลี่ แม้จะทำกำไรได้ 1,218 ล้านบาท แต่ก็ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 1,764 ล้านบาท มีเพียงเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์เท่านั้นที่มีกำไรเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านบาทในปีก่อนเป็น 198 ล้านบาทในปีนี้ แต่ดูเหมือนว่าเม็ดเงินโฆษณาที่วิ่งเข้ามาในสื่อทีวีเดือนมกราคมที่มีมากกว่า 1,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และยังแรงต่อเนื่องมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่งสัญญาณกระตุ้นให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลเริ่มคึกคักขึ้น
ขณะที่ผลการสำรวจเรตติ้งโทรทัศน์ล่าสุดโดยบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ต (ประเทศไทย) ระบุว่า เรตติ้งทีวีดิจิตอล (Nationwide 15+) ในเดือนมกราคม 2560 พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ได้แก่ ช่อง 7 HD ด้วยเรตติ้ง 2.562 รองลงมาได้แก่ ช่อง 33 เรตติ้ง 2.026 ช่องเวิร์คพอยท์ทีวี เรตติ้ง 1.482 ช่องโมโน 29 เรตติ้ง 0.971 ช่องวัน เรตติ้ง 0.754 ช่อง 8 เรตติ้ง 0.679 ช่อง 3 SD เรตติ้ง 0.383 ช่องไทยรัฐทีวี เรตติ้ง 0.341 ช่องอมรินทร์ทีวี เรตติ้ง 0.288 และช่องนาว เรตติ้ง 0.240 ซึ่งผู้เล่นในช่องฟรีทีวีเดิมและผู้เล่นใหม่เริ่มมีเรตติ้งไม่ห่างกันมากนัก
[caption id="attachment_132710" align="aligncenter" width="503"]
ดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)[/caption]
นายดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิตอล "ช่อง 8" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่อุตสาหกรรมสื่อเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน จึงเชื่อมั่นว่าในปีนี้อาร์เอสจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะมีการวางกลยุทธ์เชิงรุกที่ดี หลังจากที่พบว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ภาครัฐใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศมีการฟื้นตัวและเติบโตต่อเนื่อง
โดยกลยุทธ์การทำตลาดของช่อง 8 จะเน้นเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องให้กับรายการที่ได้รับความนิยม ทั้งในรายการกีฬา ข่าว ละคร และวาไรตี้ เพื่อเพิ่มเรตติ้งให้เติบโตแบบก้าวกระโดด รวมทั้งยังมีการปรับเพิ่มขึ้นค่าโฆษณาประมาณ 35% เมื่อเทียบกับปีก่อนทำให้เชื่อว่าช่อง 8 จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 3,124.9 ล้านบาท มาจาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อ 1,814 ล้านบาท ธุรกิจเพลง 321 ล้านบาท ธุรกิจอีเวนต์ 753 ล้านบาทและธุรกิจสุขภาพและความงาม 227 ล้านบาท มีผลขาดทุน 102.1 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขขาดทุนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยธุรกิจสื่อทีวีและวิทยุมีรายได้ลดลง 19.2% แต่ "ช่อง 8" ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจสื่อทีวีมีการเติบโตมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ AGB Nielsen Media Research (Thailand) ที่ระบุว่า ช่อง 8 มีจำนวนผู้ชมช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2558 มากถึง 13.9% โดยมาจากรายการกลุ่มกีฬา ได้แก่ 8 Max มวยไทย, เดอะ แชมเปี้ยน มวยไทยตัดเชือก, ศึกมวยโลก ช่อง 8 HBO Boxing และ UFC มวยกรง 8 เหลี่ยม รวมทั้งรายการข่าว ได้แก่ คุยข่าวช่อง 8 ซึ่งทำสถิติใหม่มีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายใหม่ และอันดับ 3 ของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมคือ การขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตออกไปอีก จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินลงทุนในคอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้น รวมถึงที่กสทช. ออกมาประกาศการลดค่าโครงข่าย แจกคูปองทีวีดิจิตอลรอบใหม่ และการประชาสัมพันธ์ที่เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศกลับมาคึกคักและมีจำนวนผู้ชมมากขึ้น ส่วนการเริ่มใช้ระบบการวัดเรตติ้งใหม่โดยบริษัท กันตาร์ มีเดีย แทนที่บริษัท นีลเส็น มีเดีย พร้อมกับการเพิ่มช่องทางการวัดผลผ่านสมาร์ทโฟน และสื่อใหม่ในปีนี้นั้น เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เม็ดเงินแพร่สะพัดไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่องต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีเซกเม้นท์ที่ชัดเจน
อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือการปรับโครงสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาถือหุ้นของอมรินทร์ พริ้นติ้ง โดย 2 พี่น้องตระกูลสิริวัฒนภักดี "ฐาปน-ปณต" ที่เชื่อว่าพร้อมจะเทหน้าตักพลิกโฉมดันให้อมรินทร์ทีวีกลับมามีสีสันขึ้น รวมถึงการเข้าถือหุ้นใหญ่ในช่องวัน เครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ โดยตระกูลปราสาททางโอสถ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,240 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2560