BACผุดโรงเรียนการบินโคราช ใหญ่สุดในประเทศ-ทุ่ม1.5พันล้านผลิตนักบินปีละ300คน

28 ม.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ ทุ่ม 1,500 ล้านบาทผุดโรงเรียนการบินแห่งใหญ่สุดในประเทศ “BAC Academy” บนพื้นที่ 15 ไร่ปากทางเข้าสนามบินโคราช ผลิตนักบินพาณิชย์ปีละ 300 คน ด้านจังหวัดขานรับ ประสานแก้ปัญหาเช่าที่ดินกรมป่าไม้

น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (BAC) เปิดเผยว่า BAC เป็นโรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ตั้งอยู่ที่ จ.นครนายก และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการฝึกนักบินให้เหมาะสมกับความต้องการนักบินที่เพิ่มขึ้น BAC จึงทุ่มลงทุน 1,500 ล้านบาท ผุดโครงการ "BAC Academy" (จ.นครราชสีมา) บนเนื้อที่ 15 ไร่ บริเวณปากทางเข้าท่าอากาศยานนครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ภายในประกอบไปด้วยห้องเรียน, หอพัก 2 อาคาร รวม 200 ห้อง , ห้องประชุม, ศูนย์กีฬา และพื้นที่สันทนาการที่มีความทันสมัย

[caption id="attachment_126727" align="aligncenter" width="503"] BACผุดโรงเรียนการบินโคราช ใหญ่สุดในประเทศ-ทุ่ม1.5พันล้านผลิตนักบินปีละ300คน BACผุดโรงเรียนการบินโคราช ใหญ่สุดในประเทศ-ทุ่ม1.5พันล้านผลิตนักบินปีละ300คน[/caption]

" BAC จะมีการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก 4 ที่นั่ง 1 ลูกสูบ 1 ใบพัด รุ่น เซสน่า 172 มาใช้ในการเรียนการสอนอีก 60 ลำ สร้างลานจอด โรงซ่อมบำรุงเครื่องบินขนาด 8 ลำ ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในสนามบินนครราชสีมาซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเช่าพื้นที่ ขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่ในส่วนของ Academy เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะตอกเสาเข็มและเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี จากนั้นจะเปิดการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักบินออกสู่ตลาด โดยสามารถผลิตนักบินได้เต็มความสามารถปีละประมาณ 450 คนถือเป็นโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ที่สุดในโลก เบื้องต้นในปีแรกจะผลิตให้ได้ 250-300 คน โดยมีเป้าหมายฝึกนักบินต่างชาติเป็นหลักด้วย"

น.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ BAC ตัดสินใจเข้ามาลงทุนที่จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจาก สนามบินนครราชสีมาถือเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุด เมื่อเดินทางจากกรุงเทพฯ ผู้มาเรียนก็เดินทางสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน (Infranstructure)ทั้งหมดของสนามบินโคราชถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด ห่างจาก Academy เพียง 5 กิโลเมตร ความได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ที่มีมากถึง 4,000 ไร่บนพื้นที่ของป่าไม้กว่า 4 หมื่นไร่ มีรันเวย์ยาวถึง 2,000 เมตรและสามารถขยายได้อีก ความกว้างถึง 80 เมตรและมีไหล่ทางด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากล สามารถนำเครื่องบินขนาดใหญ่ลงได้ และที่สำคัญคือเครื่องช่วยเดินอากาศ มีความพร้อมอย่างมากและเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก ซึ่งวิทยุการบินได้ลงทุนในเรื่องนี้เป็น1,000 ล้านบาทแต่ที่ผ่านมาอาจจะใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BAC ได้ นักบินมาฝึกบินที่สนามบินนครราชสีมาปีละไม่น้อยกว่า 50-80 รายนำเครื่องบินมาฝึกที่นี่ 10-15 ลำ

"โครงการนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ จ.นครราชสีมาได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก BAC มุ่งเน้นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาฝีมือช่างซ่อมอากาศยานโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาประจำจังหวัดในการส่งนักศึกษาเข้ามาเป็นช่างซ่อมบำรุง โดย BAC ต้องการทีมช่างมากกว่า 150 คน เพื่อรองรับการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 40-60 ลำ นอกจากนี้ศิษย์การบินและครูการบินจำนวนกว่า 300 คน จะใช้ชีวิตอยู่ใน จ.นครราชสีมา ซึ่งจะต้องมีการจับจ่ายใช้สอยและจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่และยิ่งกว่านั้นในอนาคตจะเป็นการเพิ่มดุลการค้าให้แก่ประเทศไทยได้ทางหนึ่ง เนื่องจาก BAC จะขยายตลาดการฝึกนักบินต่างชาติต่อไป ขณะนี้ทางบริษัทฯ กำลังทำตลาดกับจีนเพื่อผลิตนักบินจีนป้อนตลาดการบินด้วย"

ด้านนายมธุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการนี้ ยังติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อทำลานจอดเครื่องบินซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมป่าไม้ โดยจังหวัดจะหาแนวทางในการแก้ไขดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อจะเดินหน้าก่อสร้างและการสั่งซื้อเครื่องบินต่อไป สิ่งที่จังหวัดนครราชสีมาจะได้รับคือเป็นศูนย์ฝึกการบินรายใหญ่ระดับโลก และคนในพื้นที่มีโอกาสเข้าเรียนหรือฝึกงานด้านช่างซึ่งมีผลตอบแทนที่สูง และจะทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเหล่านี้เกิดขึ้นตามมาอีก

นายมธุรธาธีร์ กล่าวว่า ในปีนี้จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการในจังหวัดนครราชสีมา นอกจากโรงเรียนการบินแห่งใหญ่ระดับโลกแล้วจะมีโครงการ มอร์เตอร์เวย์ โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการของกลุ่มจังหวัด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560