เอสเอ็มอี‘รับช่วงผลิต’เดี้ยงเกือบ 500 บริษัทดิ้นปรับตัวสู่ New S-curve

21 ม.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตทรุด ชี้ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ทั้งกระแสรถยนต์อีวี และเอสเอ็มอีต่างชาติทั้งญี่ปุ่น จีน และไต้หวันแย่งงาน ดิ้นหาตลาดใหม่นอกประเทศ และปรับเปลี่ยนการผลิตมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแทน

นายชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการใ นอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยที่มีสมาชิกรวมเกือบ 500 บริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ 80-90% รองลงมาเป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ พลาสติกยาง และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นซึ่งในส่วนของการรับงานมาผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์สถานการณ์การดำเนินงานต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะเงียบเหงามาก แม้ว่ายอดการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัวทำให้ปริมาณการรับงานผลิตไม่มีการขยายตัวเกิดขึ้น ประกอบกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะตกอยู่ในมือของเอสเอ็มอีต่างชาติมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวันที่ได้เข้ามาลงทุนในไทยก่อนหน้านี้ทำให้การรับงานผลิตของผู้ประกอบการลดลงตามไปด้วย

อีกทั้ง กระแสเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงรัฐบาลไทยกำลังจะผลักดันนโยบายให้มีรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีเกิดขึ้น ส่งผลให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มปรับตัว หันมาผลิตรถยนต์อีวีมากขึ้น

“ในภาพรวมของการรับช่วงการผลิต ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี ขณะนี้ทางผู้ประกอบการจะยังไม่มีการขยายกำลังการผลิตและสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่แต่จะใช้ของเดิมที่มีอยู่ เพื่อประคองตัวให้รอดก่อน เพราะนับวันงานจะลดน้อยลง ทำให้ต้องหาตลาดใหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิม”

นายชนาธิป กล่าวอีกว่าทางรอดของอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตนี้ที่จะอยู่ได้ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมปรับตัว เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญโดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวว่าจะสามารถเปลี่ยนเครื่องจักรหรือพัฒนาไปสู่การรับช่วงการผลิตใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างไร

ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และกล้าลงทุนที่จะเปลี่ยนเครื่องจักรที่มีอยู่ จากเดิมที่เคยผลิตอยู่เพียงกลุ่มอุตสาหกรรมเดียว อาจจะพิจารณาปรับเครื่องจักรที่มีอยู่ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีความตอ้ งการใน 10 กลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ก็จะทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ ที่เวลานี้หลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้ว (ดูตารางประกอบ)

ต่อเรื่องนี้นายบุญเลิศ ชดช้อย ประธาน บริษัท ซี.ซี.ออโตพาร์ท จำกัด หรือ CCA ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสายพันธุ์ไทยเติบโตจากกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กล่าวยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีออร์เดอร์ชิ้นส่วนรถยนต์น้อยลงไปทุกที ช่วงที่ผ่านมาจึงปรับตัวเองโดยศึกษาว่า เครื่องจักรที่มีอยู่ควรจะหันไปพัฒนาโปรดักต์ตัวไหนโดยไม่ต้องปิดโรงงาน ก็พบว่าอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ตอบโจทย์ได้ เวลานี้เตียงหรือเก้าอี้ทำฟันได้รับการตอบรับมากขึ้น มียอดการผลิตเพิ่มเป็น100 ยูนิต ปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มอีกเท่าตัวหรือราว 200 ยูนิต โดยส่วนหนึ่งจะมาจากคำสั่งซื้อจากการส่งออกไปยังตลาดเมียนมาและเวียดนามด้วย

ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ในคลินิกทันตกรรมได้ทั้งหมด 42 โปรดักต์แล้ว ถือเป็นการผลิตที่มีนวัตกรรมสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น 5 กลุ่มใหม่ New S-curve (ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิตอล,การแพทย์ครบวงจร)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560