กางโรดแมปกรมท่าฯ ยกเครื่องสนามบินภูมิภาค รับดีมานด์ผู้โดยสารบินขยายตัว

14 ม.ค. 2560 | 08:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การขับเคลื่อนการบริหารจัดการสนามบินทั้ง 28 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) นับจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์นายดรุณ แสงฉายอธิบดีกรมท่าอากาศยาน

 กันงบ 750 ล. รับมือUSAP

ภารกิจเร่งด่วนของอธิบดีทย.คนใหม่ นอกจากต้องเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมสนามบินนครศรีธรรมราช จากปัญหาน้ำท่วมรันเวย์ อันเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยการพยายามลดปริมาณน้ำที่ท่วมขัง หลังการออกประกาศปิดการให้บริการของสนามบินไปตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมแล้ว การจะกลับมาเปิดใช้สนามบินใหม่อีกครั้ง ก็ต้องมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้า รวมถึงความแข็งแรงบนพื้นผิวของรันเวย์ ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศทั้งหมด เพื่อความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร ก่อนจะประกาศเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขและจะมีการของบกลางวงเงิน 400 ล้านบาทในการแก้ปัญหานํ้าท่วมในระยะยาว โดยจะมีการสร้างเขื่อนรอบสนามบิน

อีกเรื่อง คือ การรับมือโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากลโดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง The Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USAP- CMA) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)ที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ด้วยความที่โครงการนี้อาจต้องมีสนามบินถูกสุ่มตรวจระบบการรักษาความปลอดภัย

ทำให้ทย.ต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับการตรวจสอบที่จะเกิดขึ้น โดยทย.ได้รับราว 750 ล้านบาทในการแก้ไขข้อบกพร่อง ใน 3 สนามบินนานาชาติ คือ สนามบินกระบี่ สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินอุดรธานี โดยหลักๆจะเป็นเรื่องของการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ การติดตั้งเครื่องซีซีทีวี และเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

 วางแผนรับผู้โดยสาร 30.1 ล.ปี68

ไม่เพียงแต่ภารกิจเร่งด่วนดังกล่าว อธิบดีทย.ยังอยู่ระหว่างการวางแผนขยายสนามบินของทย.ในหลายแห่ง ที่เจ้าตัวเปิดใจว่า วันนี้ในหลายสนามบินของทย.ไม่ได้มีปัญหาสนามบินร้างเหมือนในอดีต เพราะต้องยอมรับว่าจากการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำของไทย ทำให้มีการเปิดเที่ยวบินมายังสนามบินในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายสนามบินใน

ขณะนี้มีปัญหาศักยภาพในการรองรับ เพราะมีผู้ใช้บริการเกินศักยภาพของสนามบินไปแล้ว และนับวันจะยิ่งเติบโต เพราะไม่เพียงแต่การเปิดบินข้ามภาคของสายการบินของไทยเท่านั้น แต่ยังมีการบินเชื่อมจากภูมิภาคนี้ ที่เริ่มบินเข้ามายังสนามบินในภูมิภาคเหล่านี้มากขึ้น

ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจุบันมีสนามบิน 6 แห่งของทย.ที่มีผู้โดยสารใช้บริการตั้งแต่ 1,000,001 ล้านคนไปแล้ว คือ สนามบินกระบี่ มีผู้ใช้บริการสูงสุด 3.6 ล้านคน ตามมาด้วยสนามบินอุดรธานีสนามบินสุราษฏร์ธานี สนามบินอุบลราชธานี สนามบินขอนแก่น สนามบินนครศรีธรรมราชตามลำดับ

MP26-3226-A ดังนั้นเรา จึงต้องมองแผนลงทุนในระยะช่วงปี2561-2563 เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือไปถึงปี 2568 โดยคาดว่าการเติบโตของผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินรวม 28 แห่ง จากในปี 2558 อยู่ที่ 15.4 ล้านคน เพิ่มมาเป็น 30.1 ล้านคน ซึ่งการลงทุนยกระดับสนามบินของ ทย.จะขอการสนับสนุนงบประมาณการลงทุนจากรัฐบาล เพราะสนามบินภูมิภาคเหล่านี้ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การลงทุนรัฐบาลควรจะเป็นผู้ลงทุน ไม่ใช่เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน เพราะไม่เช่นนั้นผู้ใช้บริการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสนามบินที่สูง ซึ่งแนวทางนี้ทางกระทรวงคมนาคมก็เห็นด้วย และเร่งให้เราจัดทำแผนลงทุนในช่วง 10 ปีนี้ เพื่อเสนอเข้าครม. แต่การดึงเอกชนเข้ามาควรเป็นในเรื่องของดึงเอกชนมาบริหารจัดการในรูปแบบ PPP ที่อาจนำร่องที่สนามบินกระบี่ เพื่อไม่ให้เกิดการเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินไป

 ดันแผน10ปีลงทุน3.5 หมื่นล.

สำหรับแผนลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ เพื่อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เราจะขอสนับสนุนงบประมาณในช่วงปี 2561-2564 มูลค่าการลงทุนระยะแรกราว 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการขยายศักยภาพของ 6 สนามบิน ที่ปัจจุบันสนามบินเหล่านี้มีผู้โดยสารใช้บริการเกินศักยภาพของสนามบินไปแล้ว ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินขอนแก่น สนามบินตรัง และสนามบินอุบลราชธานี

ยกตัวอย่าง สนามบินกระบี่ รองรับได้ 3 ล้านคน แต่ขณะนี้มีผู้โดยสารใช้บริการ 3.2 ล้านคนแล้ว ทย.จะขอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณปี 2561-2563 วงเงิน 6,800 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราช ศักยภาพสนามบินรองรับอยู่ที่ 1 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 1.2 ล้านคน ทย.ขอตั้งงบประมาณปี 2561-2563 วงเงิน 5,200 ล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปี 2568 สนามบินขอนแก่น ศักยภาพรองรับได้ 1.1 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการ 1.3 ล้านคน ทย.ขอตั้งงบประมาณปี2561-2562 วงเงิน 2,500 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารและอาคารจอดรถ ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น2.4 ล้านคน

ส่วนสนามบินตรัง จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ขยายการรองรับเพิ่มเป็น 2 ล้านคน สนามบินสุราษฎร์ธานี มีแผนจะขยายอาคารเทียบเครื่องบินเพื่อรองรับการให้บริการสายการบินรวมเป็น 7 สายการบินในชั่วโมงคับคั่ง และสนามบินอุบลราชธานี มีแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อขยายการรองรับเพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนในปี 2568

ส่วนใน 5 ปีถัดไปจะใช้งบอีก 1.23 หมื่นล้านบาท พัฒนาสนามบินสุราษฎร์ธานีสนามบินอุบลราชธานี สนามบินอุดรธานีสนามบินร้อยเอ็ด สนามบินลำปาง สนามบินสกลนคร สนามบินเลย สนามบินหัวหิน รวมการลงทุนในช่วง10 ปีราว 3.5หมื่นล้านบาท

 สนามบินใหม่เบตงเปิดปี63

อีกสิ่งของการใช้ประโยชน์สนามบินของทย. อธิบดีดรุณ ยังมองถึงการเปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการด้านการบิน ที่ในขณะนี้ก็มีเอกชนบางรายเสนอตัวเข้ามา อาทิ การขอเช่าพื้นที่ 300 ไร่ เปิดให้บริการศูนย์ซ่อมที่สนามบินนครศรีธรรมราช ที่ก็ต้องหารือกันถึงความเป็นไปได้ การเปิดโรงเรียนการบิน เป็นต้น ส่วนสนามบินบางแห่งที่อาจจะไม่มีการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ อาทิ ตาก แต่ก็มีการใช้งานของเครื่องบินจากหน่วยงานต่างๆของรัฐอยู่ การบริหารจัดการสนามบินก็ยังคงต้องให้บริการอยู่

ขณะที่สนามบินใหม่ของทย.ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีเพียง 1 แห่ง คือสนามบินเบตง จ.ยะลา จะใช้งบประมาณปี2560-2562 ลงทุน 1,650 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี2563

“ไม่เพียงแต่การยกเครื่องสนามบินเท่านั้น ขณะเดียวกันผมยังวางเป้าหมายในการบริหารจัดการสนามบิน ผมจะเน้นใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.ทุกสนามบินต้องมีความปลอดภัยและ2.ทุกสนามบินต้องทันสมัย และรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมาย คือ การต้องพัฒนาบุคลากรในองค์กรทั้ง 1,500 คน ให้เขาเหล่านี้เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการสนามบิน ที่ภายในปี 2561-2562 จะมีการจัดเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ขึ้น เพื่อพัฒนาบุคคลากรให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO“ นายดรุณ ย้ำ ปิดท้ายการขับเคลื่อนองค์กรที่จะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560