จีนแห่ตั้งรง.ยางรถยนต์ จับมือผู้ประกอบการไทย-ปูฐานผลิตเพื่อการส่งออก

11 พ.ย. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ไทยยังเนื้อหอม ค่ายยางจีนแห่ลงทุน “เอ็น.ดี.รับเบอร์”เผยจับมือพันธมิตรผลิตยางรถบรรทุก –ยางรถยนต์ เพื่อส่งออกไปตลาดหลักอเมริกาและอินเดีย ด้านเค.ซี. วีล ระบุยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอบางส่วนแล้ว คาดปี 61 เริ่มผลิต พร้อมวางงบลงทุน 1.5 พันล้านบาท ขณะที่ดีสโตนแบรนด์คนไทยชี้ตลาดยางในประเทศแข่งดุ

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตและจำหน่ายยางรถจักรยานยนต์แบรนด์ ND RUBBER เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้มีการเจรจากับพันธมิตรจากประเทศจีนเพื่อตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ในไทย โดยมีเป้าหมายคือการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ,อินเดีย ขณะที่งบลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท สามารถผลิตยางรถบรรทุกได้ 1.2 ล้านเส้นต่อปี และ ผลิตยางรถยนต์นั่งได้ 3 ล้านเส้นต่อปี ส่วนที่ตั้งของโรงงานคาดว่าจะอยู่ที่ชลบุรี เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง

“ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการล้อยางจากจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย 3 – 4 ราย เนื่องจากสินค้าล้อยางจากจีนที่ส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกามีความยากมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตราการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือเอดี ตรงจุดนี้เองทำให้ผู้ผลิตจากจีนต้องมองหาฐานการผลิตในประเทศอื่นๆและไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพการผลิต มีความน่าเชื่อถือ โดยการจับมือกันในครั้งนี้จะทำการผลิตทั้งแบรนด์จีน และ แบรนด์ของเราเอง ซึ่งจะเน้นตลาดส่งออกก่อนและค่อยทำตลาดในประเทศ”

นายชัยสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการเจรจาขั้นตอนสุดท้ายแล้วเสร็จ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2560 หลังจากนั้นก็จะเริ่มผลิตได้ในปี 2562 หรือต้นปี 2563 โดยในเฟสแรกจะทำการผลิตยางรถบรรทุกก่อน ด้วยจำนวน 6 แสนเส้นต่อปี ส่วนยางรถยนต์นั่งน่าจะเป็นเฟส 2

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตตามที่ได้วางเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปี 1,000 ล้านบาทอาจจะไม่ถึง แต่กำไรและอัตราการเติบโตยังถือว่าโตเมื่อเทียบกับปีทีผ่านมา ส่วนกลยุทธ์การตลาดในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้จะมีการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง มีการใช้ช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น ขณะที่สินค้าใหม่ยังไม่มีแผน ส่วนตลาดต่างประเทศ มีการส่งออกไปยังอินเดีย,มาเลเซีย,เมียร์มาร์,ลาว,อเมริกาใต้,ตะวันออกกลาง,ยุโรป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ตลาดอินเดียมีอัตราการเติบโต ส่วนมาเลเซียมีการชะลอตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน

ด้านนายพิชาญ พรหมเมฆประธาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เค.ซี. วีล แอนด์ ไทร์ จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทจะจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตยางรถยนต์จากซานตง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางล้อจากจีน เพื่อทำการผลิตยางในกลุ่มเอสยูวี และพีพีวี โดยความคืบหน้าในตอนนี้อยู่ในระหว่างการยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ ส่วนที่ตั้งของโรงงานในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแถบจังหวัดระยอง โดยเป็นการตั้งโรงงานแห่งใหม่ทั้งหมด คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 – 1,500 ล้านบาท และจะเริ่มผลิตในปี 2561 แบ่งออกเป็นผลิตเพื่อส่งออก 70% ป้อนตลาดในประเทศ 30%

M2832082 “เรายังอยู่ในขั้นตอนการยื่นเรื่องบางส่วนเพื่อขอรับการส่งเสริมฯ ส่วนการจะผลิตแบรนด์ไหน หรือ การลงทุนจะเป็นแบบจอยท์เวนเจอร์ หรือลงทุนใหม่ทั้งหมด ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ โดยก่อนหน้านั้นบริษัทฯมีการจับมือกับพันธมิตรจากจีนอยู่แล้ว ในการนำเข้ายาง TRI-ACE เข้ามาจำหน่ายและเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ”

ด้านนายสุวิชา วงศาริยวานิช รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ดีสโตน ผู้ผลิตและจำหน่ายยางแบรนด์ ดีสโตน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดยางในไทยถือว่ามีการแข่งขันสูง โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มยางรถยนต์นั่ง ที่มีการทำตลาดผ่านแคมเปญ-กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆส่วนยางรถจักรยานยนต์แม้จะแข่งขันไม่รุนแรงเท่ายางรถยนต์ แต่ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างมีความสำคัญ ขณะที่กลุ่มยางรถบรรทุก ถือเป็นตลาดที่มีผู้ผลิตจากจีนเข้ามาเล่นเป็นจำนวนมาก และมีการแข่งขันผ่านกลยุทธ์ราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ประเทศอื่นๆ

สำหรับแผนการของดีสโตน จะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ ล่าสุดได้เปิดตัวรุ่น Premium Tourer RA01 โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ใช้รถยนต์นั่งในกลุ่มฮอนด้า แอคคอร์ด ,โตโยต้า คัมรี่,นิสสัน เทียน่า และรถเพื่อครอบครัว สนนราคาเริ่มต้นถูกกว่ายางนำเข้า โดยเริ่มต้นที่ 1,670 - 2,770 บาท ขณะที่กลยุทธ์การตลาดด้านอื่นๆจะเน้นไปที่การสร้างแบรนด์ดีสโตนให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น นอกจากนั้นแล้วจะมีการสื่อสารทั้งช่องทางหลัก อาทิ โทรทัศน์ ,วิทยุ,สื่อเอาท์ดอร์ และการจัดกิจกรรมกับผู้ประกอบการ รวมไปถึงสื่อสารกับกลุ่มออนไลน์ที่มีการเติบโตมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559