พระมหากรุณาธิคุณ ต่ออุตสาหกรรมรถยนต์

04 พ.ย. 2559 | 00:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

“อย่างรถที่นั่งมา… สร้างด้วยฝีมือคนไทย… มีจำนวนกว่า 200 ร้อยคน ก็เลยทำให้เห็นว่า น่าจะหาทางที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้… แล้วก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เขาตั้งโรงสี เหมือนโรงสีในสวนจิตรฯ… ข้าวในโรงสีนี้เป็นข้าวที่ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อข้าวได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป ตกลงทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็มีความสุข”พระราชดำรัสบางส่วนของ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
4 ธันวาคม 2540 พระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 2540 หลังเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ได้มีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า โตโยต้าจะปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานกว่า 5,500 คน ผู้บริหารระดับสูงขณะนั้น ได้แถลงข่าวว่าไม่มีการปิดโรงงานและเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่ทรงห่วงใยพนักงานโตโยต้าซึ่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 เลขานุการส่วนพระองค์ ได้แจ้งทางโทรศัพท์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯมีพระราชประสงค์สั่งซื้อรถยนต์โตโยต้าโซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ไม่ต้องรีบ พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนานๆ เมื่อนำรถไปถวายพระองค์ท่านในเดือนธันวาคม 2540 พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 6 แสนบาท แต่ทางโตโยต้า ไม่สามารถรับเงินได้ จึงทรงมีพระราชดำริใหม่ว่า ให้นำเงินไปตั้งโรงสีข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาละแวกใกล้เคียง เพราะโตโยต้า มีระบบการบริหารจัดการที่ดีจึงควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้น

บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด จึงได้ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่พระราชทานแก่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้ก่อตั้งโรงสีข้าวตามแบบอย่างโรงสีจิตรลดา เพื่อช่วยเหลือชาวนา ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาและสหกรณ์การเกษตร ในราคาสูงกว่าตลาด 5-10% นำมาสีและจำหน่ายในราคาต่ำกว่าตลาดในราคาเหมาะสมแก่ผู้บริโภค ทั้งจำหน่ายผลพลอยได้จากการสีข้าวคือ รำ แกลบ และข้าวหัก จำหน่ายให้แก่เกษตรกร ผู้เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในราคาต่ำกว่าตลาด 20-25% เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลง และขายได้กำไรมากขึ้น พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนก่อตั้ง และพระราชทานนาม “บริษัท ข้าวรัชมงคล จำกัด” โดยได้ริเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2542 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ทางบริษัทจะผลิตข้าวสารขาวและข้าวกล้อง ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย และไม่ใช้สารเคมีในการสี คัดสรรคุณภาพข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพจากชาวนา อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพระดับโลก และจาก อำเภอราชสาส์น อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดข้าวหอมมะลิ นำมาสีด้วยระบบการผลิตแบบโตโยต้า ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559