จากการปรับตัวลดลงหนักกว่า 6% ของราคาหุ้น บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่เกิดขึ้นในวันนี้ 16 เม.ย.68 ซึ่งสวนทางกับหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มแบงก์ด้วยกันที่ยังคงยืนแดนบวกเขียวสดใส
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น SCB และ KTB นั้น หลักๆ เป็นผลมาจากการขึ้น XD เตรียมจ่ายเงินปันผล
โดย SCB ประกาศการจ่ายเงินปันผลที่ 8.44 บาท และ KTB ที่ 1.545 บาท ทำให้นักลงทุนมองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยขายทำกำไร เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นตอบรับข่าวดีไปพอสมควรแล้ว ประกอบกับในไตรมาส 1/2568 จะเป็นช่วงที่ผ่านประกอบการของกลุ่มแบงก์จะดีที่สุดของปี
ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนทยอยขายทำกำไรออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลมาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2568 นี้ และมีโอกาสที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสที่จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ 1-2 ครั้ง
โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2/2568 นี้ จะได้เห็นการลดดอกเบี้ย จำนวน 1 ครั้ง ไม่ปลายเดือนเม.ย. ก็ เดือนพ.ค. 68 ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ดอกเบี้ยลดลง จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างดอกเบี้ยที่แบงก์จะต้องได้รับปรับตัวลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอติดตามการปรับประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยของ ธปท. ว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณเท่าไหร่ เพราะปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสะท้อนต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของสินเชื่อแบงก์ร่วมด้วย
"ถามว่าทำไม SCB-KTB วันนี้ราคาปรับตัวลดลงสวนทางตัวอื่นๆ ในกลุ่ม หลักๆ เป็นเพราะการประกาศจ่ายเงินปันผลและการขึ้น XD นักลงทุนสบจังหวะเหมาะที่จะขายทำกำไรในช่วงเวลานี้ ก่อนที่หุ้นกลุ่มแบงก์จะต้องเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว และธปท.ลดดอกเบี้ย"
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะถึงรอบของ BBL-TTB จะขึ้น XD ก็คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วน KBANK จะจ่ายปันผลเดือน พ.ค. ดังนั้นจึงได้อานิสงส์ในระยะสั้น ถามว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปไกลกว่านี้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าคงไปไม่ได้ไกลกว่านี้
ขณะที่ประเด็นธปท. ได้พิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้คัดเลือก 3 ราย ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร Gulf, AIS และ พีทีที กรุ๊ป 2.กลุ่มบริษัทเอสซีบี เอกซ์ ร่วมกับ KakaoBank และ WeBank และ 3.บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ของกลุ่มซีพี นำร่องให้บริการนั้น
"มองว่า Virtual Bank ก็เป็นจิตวิทยาเชิงบวกเล็กๆ ในระยะสั้น แต่ในระยะสั้นๆ เชื่อว่าจะยังไม่ได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากนัก อีกทั้งในภาพระยะถัดไปการลงทุนต่างๆ จะทำให้กลุ่มแบงก์มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในช่วงแรกๆ อีกทั้ง Virtual Bank เป็นการจับมือกัยพันธมิตร ดังนั้นแล้วผลตอบแทนต้องหารแบ่งส่วนกัน ซึ่งก็ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย"