นางสาวพรทิพย์ ตรงกิ่งตอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) หรือ KGEN เปิดเผยว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีหนังสือเลขที่ บจ. 101/2568 ลงวันที่ 4 เมษายน 2568 ถึงบริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) โดยขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 ผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 และสำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัท ภายในวันที่ 17 เมษายน 2568 นั้น
บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจงในรายละเอียดตามประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถาม โดยข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการบริษัทพิจารณาให้ความเห็นก่อนดำเนินการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความเห็นจากคณะกรรมการบริษัท
ดังนั้น บริษัทจึงขอเลื่อนการชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ จากกำหนดการเดิมภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 เป็นภายในวันที่ 17 เมษายน 2568 ซึ่งจะเป็นการรับรองข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลและเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นการแจ้งเตือน (Alert News) กับนักลงทุน โดยระบุรายละเอียดว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ บมจ.คิง เจน (KGEN) ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 กรณีพบรายการ ที่สำคัญดังนี้
- เงินมัดจำการทำธุรกรรมต่างๆ ของกลุ่มบริษัท ซึ่งมีการยกเลิกหลายรายการ โดยได้รับเงินคืน บางส่วนหรือไม่ได้รับคืนจนนำไปสู่คดีฟ้องร้อง
- การลงทุนธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก การเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด ซึ่งบริษัทได้รับเงินเพิ่มทุน 10% ของวงเงินเพิ่มทุน ซึ่งกรณีข้างต้นอาจกระทบต่อผลการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท
จึงขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 10 เมษายน 2568 สำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัท ภายในวันที่ 17 เมษายน 2568 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงิน ของ KGEN และติดตามคำชี้แจงของบริษัท
สรุปเหตุการณ์-ข้อมูลสำคัญในงบปี 67
กุล่มบริษัทมีเงินมัดจำการทำธุรกรรมต่างๆ สรุปได้ดังนี้
- เดือนธ.ค. 66 กลุ่มบริษัททำ MOU เข้าลงทุนในบจก. ราชา อินเตอร์ กรุ๊ป (บ.ราชาฯ) และวางเงินมัดจำเพื่อตรวจสอบสถานะ 10 ล้านบาท และ ม.ค.67 ได้ทำสัญญาให้บริการรถรับส่งพนักงานกับบ.ราชาฯ และจ่ายเงินมัดจำเพื่อจัดหารถไฟฟ้า 23 ล้านบาท ต่อมา ส.ค.67 กลุ่มบริษัทยกเลิกการทำธุรกรรมข้างต้นและไม่ได้เงินมัดจำคืนจำนวน 33 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย
- เดือน ส.ค. 67 บมจ. มนตรีทรานสปอร์ต คอร์ปอเรชั่น (บมจ.มนตรีฯ : บริษัทย่อย 90%) ลงนามใน MOU เพื่อซื้อที่ดินที่จะ พัฒนาจุดจอดรถหรือดำเนินกิจการอื่นโดยวางเงินมัดจำ 30% หรือ 180 ล้านบาท ต่อมาในไตรมาส 4 ได้ยกเลิก MOU และได้รับเงินคืน 120 ล้านบาท อีก 60 ล้านบาท จะได้รับชำระภายใน มิ.ย.68
- บมจ.มนตรีฯ ทำข้อตกลงซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1,000 ล้านบาท และจ่ายเงินมัดจำในปี 67 และม.ค. 68 รวม 230 ล้านบาท หนึ่งเดือนต่อมา (ก.พ. 68) โอนสิทธิการซื้อที่ดินให้ บจก.โอโมตา แอนด์ เจคู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) (OJMT) ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม KGEN ร่วมลงทุนเพื่อผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะรับคืนเงินมัดจำจาก OJMT ภายใน มี.ค.68 ทั้งนี้ OJMT ได้ชำระเงินค่าที่ดิน 530 ล้านบาทกับผู้ขายและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแล้ว โดยจะชำระ ส่วนที่เหลือ 240 ล้านบาทภายในวันที่ 17 เม.ย. 68
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ KGEN ชี้แจงข้อมูล ดังนี้
1. เงินมัดจำการทำธุรกรรมของกลุ่มบริษัท : ขอทราบความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับ
- ความสมเหตุสมผลของการจ่ายเงินมัดจำในแต่ละกรณีข้างต้น รวมถึงมีการพิจารณาความสามารถในการดำเนินการ ตามสัญญาของคู่สัญญา ณ วันที่อนุมัติเข้าทำรายการ ความเสี่ยงและการป้องกันความเสี่ยงจากการเข้าลงทุนและ ไม่ได้เงินมัดจำคืน รวมถึงผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แผนการขยายธุรกิจ และสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท
- นโยบายการลงทุนในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดกรณีไม่ได้เงินมัดจำคืนหรือมีข้อพิพาท เช่น การให้วางหลักประกัน เป็นต้น
- รายการดังกล่าวเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือไม่ อย่างไร
2. การลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า : กลุ่มบริษัทลงทุนใน OJMT และบจก.โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) (OJST) เพื่อลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
โดยจะใช้แหล่งเงินทุน จากการเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด 4 ราย รวม 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้รับเงินเพิ่มทุนจาก PP 2 ราย คือนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา และนายเอนก ปิ่นวนิชย์จำนวน 10% ของเงินเพิ่มทุน ดังนั้นจึงขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
- ความเพียงพอของเงินทุนเพื่อประกอบธุรกิจและการจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงาน และกรอบเวลาแล้วเสร็จเพื่อมีรายได้เชิงพาณิชย์ ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ กรณียังจัดหาแหล่งเงินทุนไม่ได้ อธิบายผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
- สรุปโครงสร้างการถือหุ้น ณ ปัจจุบันของ OJMT และ OJST หากบริษัทร่วมทุนเป็นบริษัทต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 49% จะส่งผลกระทบต่อการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของ OJMT ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
- บริษัทจัดเงินลงทุนใน OJMT และ OJST เป็นประเภทใด หากเป็นบริษัทย่อย บริษัทได้ดำเนินการตามเกณฑ์ได้มา ซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกันเมื่อมีการเข้าลงทุนแล้วหรือไม่ อย่างไร