นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประกาศนโยบาทปรับขึ้นภาษีของ "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์" โดยลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% และสินค้าจากจีน 10%
มองว่าวัตถุประสงค์หลักจริงๆ ไม่ใช่การจัดเก็บภาษี แต่เป็นยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองมากกว่า นอกจากนี้ "ทรัมป์" ยังสร้างความยากขึ้นไปอีก ด้วยการได้ลงนามในคำประกาศเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 68 ให้ปรับขึ้นอัตราภาษีอะลูมิเนียมที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ เป็น 25% จากอัตราเดิมที่ระดับ 10%
และยกเลิกข้อยกเว้นรายประเทศและข้อตกลงตามโควตา รวมทั้งยกเลิกการยกเว้นภาษีเฉพาะผลิตภัณฑ์ (product-specific tariff) โดยเฉพาะนำเข้าผลิตภัณฑ์ในส่วนของต้นน้ำ เพื่อดึงให้เกิดการแปรรูปในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น มองว่าวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการดึงกิตกรรมการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ
มองว่าในเฟสแรกที่ ทรัมป์ ต้องการให้เกิดขึ้นคือการผลิตสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนมากอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ไมโครเวฟ เป็นต้น จึงเป็นความเสี่ยงต่อกลุ่มประเทศที่มีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยรวมอยู่ในนั้นด้วย สินค้าที่เป็นกลุ่มไฮเทคโนโลยี มีนวัตกรรมสูงๆ อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการในครั้งนี้ของสหรัฐฯ เสมอไป
ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อสหรัฐฯ ดึงกิจกรรมการผลิตกลับเข้ามา ส่งผลดีต่ออัตราการผลิตและอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำนวนมาก นอกเหนือจากสินค้าทางการเกษตรแล้ว ก็ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ร่วมด้วย ในภายภาคหน้าเมื่อสินค้าบางอย่างถูกดึงกลับก็จะเป็นความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการไทย
แน่นอนว่าการกลับมาของ "ทรัมป์" ในครั้งนี้ กิจกรรมการค้าและการเงินของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยยุทธศาสตร์ของทรัมป์ในครั้งนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงขึ้นเป็นผู้รักษาระเบียบโลก ให้สินค้าแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น และแน่นอนว่าผลพลอยได้คือการตักตวงเอาประโยชน์เข้าสหรัฐฯ
หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เมื่อโลกเปลี่ยนไป เกมการค้าก็ต้องเปลี่ยนกติกาใหม่ โดยใช้การบลัฟกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ จำนวนมากก่อน เปิดเกมการต่อรอง ต้องยอมรับว่าด้วยการนำเข้าสินค้าจำนวนมากในหลากหลายอุตสาหกรรมของสหรัญฯ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองสูง โดยใช้สถานะผู้บริโภครายใหญ่ของโลกมากดดัน
"หากมองถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของเหล่าประเทศมหาอำนาจของโลก สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจโลกหลายราย ยุโรปยังคงแย่อยู่ จีนมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยจะประคองธุรกิจไปได้ในเวลานี้ก็คงต้องล้อไปตามสหรัฐฯ ให้ได้"
ในรอบการ ทรัมป์ 1.0 ใช้กลไหเครื่องมือการค้าลักษณะปกติ มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล ออกประกาศต่างๆ ซึ่งใช้ระยะเวลานานถึง 12-18 เดือน ในครั้งก่อนจึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะกว่าจะมีการเจรจาต่อรองทางการค้าก็กินเวลาไปอีก 1-2 ปี ทำให้การทำข้อตกลงกับประเทศจีนได้จริงก็เป็นปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์แล้ว
แต่รอบนี้ "ทรัมป์ 2.0" เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ใช้กลไกกฎหมายพิเศษภาวะฉุกเฉินในด้านต่างๆ ใช้คำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อปกป้องเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยอำนาจประธานาธิบดี ทำให้ใช้ระยะเวลาน้อยมากๆ เรียกได้ว่าเป็นรายชั่วโมง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าครั้ง ทรัมป์ 1.0
สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ ประเทศไทยก็ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย หลังจากนี้ไทยอาจต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากสรหัฐฯ เพิ่มมากขึ้น นี่อาจทำให้ไทยเราเสียเปรียบบางรายได้ แต่ในส่วนของพลังงานที่ไทยนำเข้าสหรัฐฯ นั้น มองว่าด้วยนโยบายการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อควบคุมราคาพลังงานแก้ปัญหาค่าครองชีพในสหรัฐฯ ทำให้ราคาพลังงานถูกลงสู้กับตะวันออกกลางได้
ขณะที่สินค้าการเกษตรอย่างการนำเข้าถั่วเหลือง และธัญพืชต่างๆ ไทยมีการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ในแต่ละปีจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เรื่องของการนำเข้าเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อหมูอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไทยมีกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการควบคุมสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งจากนี้ไปต้องรอดูว่าการเปิดตลาดไทยในครั้งนี้จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบด้านใดบ้าง
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้องต้น มองว่าจากนี้ไปผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้ทัน แต่ติดดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บริษํทจดทะเบียนหลายรายมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก การที่ต้นทุนพลังงานถูกลงก็อาจเป็นอานิสงส์เชิงบวกให้ธุรกิจที่ใช้พลังงานจำนวนมาก
ด้านนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองต่อนโยบายของ "ทรัมป์" ว่า จากความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดการเงินโลก ทำให้จะเห็นได้ว่าการไหลออกของเงินทุนต่างชาติยังมีต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) ที่มีความผันผวนอย่างมาก แต่ต้องยอมรับว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละประเทศในตลาดภูมิภาคเอเชียนั้นก็มีความแต่ต่างกันไป แต่หลักๆ มองว่านโยบาย "ทรัมป์ 2.0" จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด เป็นผลที่ว่าทำไมประเทศเม็กซิโก แคนาดา และจีน ถึงเป็นกลุ่มแรกที่โดนขึ้นภาษี
แต่ในการใช้กลไกเครื่องมือการค้าอย่างการเก็บภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของทรัมป์ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองทางการค้ามากกว่า เห็นได้ชัดว่า "ทรัมป์" ต้องการพลิกเกมการค้าโลกใหม่ ไม่ใช่เพียงในสถานะประเทศมหาอำนาจแบบเดิม แต่เป็นในสถานะผู้บริโภครายใหญ่ของโลก เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการค้า
"ต้องยอมรับว่าการประเมินผลกระทบยังทำได้ยากในเวลานี้ เพราะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน หากว่าการเจรจาต่อรองโดยเฉพาะประเทศจีนออกมาดี ก็จะเป็นผลบวกต่อกลุ่มประเทศเกิดใหม่ร่วมด้วย แต่ถ้าไม่ไทยก็อาจมีความเสี่ยงไปด้วย เพราะเราไม่ได้ส่งออกตลาดจีนเพียงประเทศเดียว แต่ไทยก็ส่งออกไปยังสหรัฐและได้ดุลการค้ามามากพอสมควร"
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 68 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมีความผันผวนอยู่มาก จากปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาสร้างแรงกระทบเป็นระยะๆ
โดยการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นนั้นไม่เพียงแค่ตลาดหุ้นไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ตลาดหุ้นทั่วเอเชียก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าตลาดทุนไทยจะดูเหมือนว่าย่อตัวลงหนักกว่าประเทศอื่นๆ รองลงมาจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่อยากให้ไปดูที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยที่มีความน่าสนใจมากกว่า ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3% มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ปัจจัยที่มีผลสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยหลักๆ ยังเป้นผลมาจากความไม่แน่นอนของนโยบาย "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่มีการออกมาปั่นกระแสเป็นระยะๆ โดยมองว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้าใน 3 ประเทศเม็กซิโก แคนาดา และจีน อาจมีผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยต้องหามุมใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การค้าและการเงินโลก
"ทรัมป์ 2.0" เปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกใหม่ ทำให้สงครามการค้ายิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ตราบใดที่การเจรจาต่อรองระหว่างประเทศมหาอำนาจไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน กุญแจสำคัญ คือ นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ การนำเข้าสินค้า และค่าแรง ที่อาจสูงขึ้น
IMF มองเสาหลักเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้น ดังนั้น หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลทำให้ได้เปรียบทางการค้า ในแง่ของประเทศไทย มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จำนวนมาก แม้ว่าในเฟสแรกของการปรับขึ้นดอกเบี้ยไทยอาจรอดตัวไปได้ แต่ในครั้งถัดไปก็มีความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ คือได้ต้องเปิดตลาดนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
ด้านเศรษฐกิจไทยเองก็ไม่ได้ดูแย่ การส่งออกยังมีการขยายตัวได้ดี การท่องเที่ยวมีการเติบโต การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้นตามมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่เข้ามาช่วย ถ้าไม่นับกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี Earning ดีขึ้น แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนอยู่สูง แต่ช่วงที่เป็นขาลงเช่นนี้ก็เป็นที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองการลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้นปันผลดีน่าสนใจ
จากนี้คงต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า "ทรัมป์" จะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดอีก ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะในเรื่องของเงินเฟ้อ
ด้าน นายเอ็ดวิน ตัน (Mr. Edwin Tan) Market Head DBS, Thailand & Philippines, DBS Bank กล่าวว่า เริ่มต้นปี 2568 มีการคาดการณ์ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับปานกลางแต่มีเสถียรภาพในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ ตลาดยังคงเผชิญกับปัจจัยพลิกเกมที่อาจกำหนดทิศทางในช่วงเดือนข้างหน้า
ด้านหนึ่งการกลับมาดำรงตำแหน่งของ "โดนัลด์ ทรัมป์" อาจส่งสัญญาณถึงสงครามการค้าระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยมาตรการทางภาษี และยิ่งซ้ำเติมความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่ ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ
ประกอบกับวัฏจักรการลดอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงดำเนินต่อไป อาจเป็นปัจจัยเสริมให้ตลาดและเศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะเดียวกันความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ สภาพภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกยังคงมีความซับซ้อน
ด้วยชัยชนะของพรรครีพับลิกันทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การบริหารงานของทรัมป์จะมีอำนาจเต็มที่ในการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ และความมั่นคงทางชายแดน
จากนโยบายต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้แนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจไม่เกิดขึ้น ในทางกลับกันเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่ทรัมป์มุ่งมั่นทำตามคำมั่นสัญญาด้านนโยบาย เช่น การลดภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ
"อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบาย "ทรัมป์ 2.0" โดยเฉพาะความยั่งยืนทางการคลัง และการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ที่กระตุ้นให้เกิดสงครามทางการค้า ท่ามกลางความย้อนแย้งของนโยบายการคลังที่ขยายตัว และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น"