"อัสสเดช" เดินหน้าพัฒนา-ยกระดับตลาดทุนไทย เคาะแผน 3 ปีปลายพ.ย.นี้

02 ต.ค. 2567 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 09:00 น.

"อัสสเดช คงสิริ" ผจก. ตลท. คนที่ 14 กางแผนลุยพัฒนา ยกระดับ สร้างความเท่าเทียมตลาดทุนไทย พร้อม Take action รวดเร็วมากขึ้น เล็งประกาศแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้าอย่างเป็นทางการได้ภายในช่วงปลายเดือน พ.ย.67 นี้ ยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการตรวจสอบบัญชี STARK

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงาน "Meet the Press ทำความรู้จักกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนที่ 14" ว่า คาดว่าจะสามารถประกาศแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 68-70) อย่างเป็นทางการได้ภายในช่วงปลายเดือน พ.ย.67 นี้เป็นต้นไป

หลังจากที่ในปัจจุบันตนเองและทีมผู้บริหารของทาง ตลท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานและระดมแนวความคิด เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ตลท. (บอร์ด) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป โดยคาดว่าจะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดได้ในช่วงปลายเดือน ต.ค. 67 นี้

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

เปิดวิสัยทัศน์ "อัสสเดช"

วิสัยทัศน์ของการทำงานในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่นั้น ตนยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เติบโต สร้างความน่าสนใจ และมีความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนทุกคน อีกทั้งยังมองว่าความตั้งใจในการพัฒนาตลาดทุนและเป็นสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรปฎิบัติมี 2 หัวใจหลักๆ คือ 

  1. การทำให้ตลาดทุนไทยเป็นการลงทุนเพื่อส่วนรวม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย และทุกคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับฟังเสียงจากหลายด้าน เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. การสร้างความเท่าเทียม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดทุนของทุกคน ทั้งนักลงทุน และภาคธุรกิจ ในการที่ใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นเครื่องมือในการระดมทุน และการลงทุน โดยจะมีการเปิดกว้างมากขึ้นในการให้โอกาสทุกคนสามารถเข้าถึงตลาดทุนไทย ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการผลักดันออกมา

นอกจากนี้ มองการยกระดับและพัฒนาตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยรายละเอียดการพัฒนาตลาดทุนมี 5 ด้าน ได้แก่

  1. สมดุลเท่าเทียม (Fairness)
  2. เข้าถึง ทั่วถึง (Inclusiveness)
  3. ตอบโจทย์อนาคต แข่งขันได้ (Re-imagine)
  4. รับโอกาสและความท้ายจากกระแสความยั่งยืน (Sustainability)
  5. เสริมความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย (Trust & Confidence)

รายละเอียดการพัฒนาตลาดทุนมี 5 ด้าน

ซึ่งสิ่งแรกที่จะดำเนินการหลังรับหน้าที่ คือ เรื่องของการสื่อสาร เนื่องจากมองว่าปัจจุบันมีคนที่ถูกหลอกให้ลงทุนและขาดทุนเป็นจำนวนมาก รวมถึงบางรายถึงกับฆ่าตัวตาย จึงอยากจะพัฒนาการสื่อสารและการ Take action ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้รวดเร็วมากขึ้น

เพื่อให้นักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบอย่างรวดเร็วและรับทราบอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำให้การสื่อสารของตลาดหลักทรัพย์สามารถสื่อไปถึงผู้ลงทุนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ในส่วนการสร้างความเชื่อมั่นนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น สามารถเร่งรัดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ลงทุน และทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น รวมถึงการหาแนวทางการลดความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะที่ในเรื่องที่เสริมจากการโอกาสกาสด้านการเข้าถึงตลาดทุนอย่างเท่าเทียม ยังคงมองว่าในด้านการลงทุนจะต้องมีความเท่าเทียมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือในการลงทุน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการออกมาตรการกำกับการใช้เครื่องมือต่างๆ ออกมา เช่น เกณฑ์ uptick rule การควบคุมการ HFT 

รวมถึงการใช้ระบบ Auction ในการซื้อขายหุ้น ซึ่งจากการวัดผลในช่วงที่ผ่านมาพบว่าได้ผลที่ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องติดตามประสิทธิภาพของเกณฑ์ที่ออกมาในระยะต่อไป ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าเป็นสาเหตุ คือ พฤติกรรมการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของนักลงทุนแต่ละคน ที่มีพฤติกรรมการลงทุนที่แตกต่างกัน

อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ส่วนการยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น จะหันมาเน้นการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น ทั้งการเพิ่มในส่วนของ ROE และ ROA การทำให้ Balance Sheet ของบริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อทำให้บริษัทจดทะเบียนเติบโตได้อย่างยั่งยืน และให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนที่ดี

"ยอมรับว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหลายๆ บริษัทที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ผ่านการลงทุน และการคิดนอกกรอบ ในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพยฯจะมีการส่งเสริมในเรื่องนี้ รวมถึงการมองหาธุรกิจที่เป็น New Economy เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น เพื่อสร้างความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ"

ในด้านการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามา จากเดิมที่มีการให้บริการ TFEX, Option, DR และ DRx ต่างๆ มองว่ายังมีสินทรัพย์อื่นๆ ที่นักลงทุนไทยมีความสนใจ เช่น การทำ Option ของทองคำ ซึ่งผู้ลงทุนไทยให้ความสนใจในการลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่จะมีการศึกษานำมาพัฒนาในระยะต่อไป

รวมถึงการดึงดูดบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียนให้เข้ามาระดมทุน และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตั้งเป้าในการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของภูมิภาค (Listing Hub) เพราะมองว่าตลาดทุนไทยถือเป็นตลาดทุนที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในภูมิภาค และยังคงมีความน่าสนใจในหลายๆ ด้านอยู่

"มุมมองตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 67 นี้ ส่วนตัวมองว่าตลาดหุ้นไทนเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์บวกจากเม็ดเงินของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ที่เข้ามาในช่วงต้นเดือนต.ค. นี้ และในปลายปีนี้จะมีเม็ดเงินจากกองทุน TESG เข้ามาเสริมเพิ่มเติมอีกด้วย"

ประกอบกับในปัจจุบันรัฐบาลไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนต่างๆ ออกมาได้ต่อเนื่อง ซึ่งดเข้ามาช่วยหนุนต่อเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เข้ามาหนุนต่อตลาดหุ้นไทย แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีความผันผวนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาก็ตาม

ประเด็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์และการเกิดสงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงการตัดสินใจต่างๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้น นายอัสสเดช ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ ให้มุมมองว่า ต้องยอมรับว่า มีผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อตลาดทุนทั่วโลกแน่นอน อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากจะแนะนำคือ ต้องจับตาดูและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนที่จะลงทุน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบกับเราอย่างไรบ้าง

ย้ำชัดไม่เกี่ยวข้อง STARK

สำหรับประเด็นข่าวเรื่อง ที่ตนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นั้น ตนขอยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมีส่วนเกี่ยวข้องการตรวจสอบบัญชีของ STARK ตามข่าวต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะทำงานเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาการเงินของ Deloitte Thailand

ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับบริษัทที่ตรวจสอบบัญชี STARK คือ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ซึ่งเข้ามาเริ่มงานกับ Deloitte Thailand ในปี 65 หลังจาก STARK เปลี่ยนผู้สอบบัญชีในปี 64 โดยมั่นใจได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ STARK และทุกอย่างดำเนินการด้วยความโปร่งใสแน่นอน