CHAYO ควัก 100 ล้าน ซื้อหนี้ใหม่เติมพอร์ตไตรมาสแรกกว่า 600 ล้าน

28 มี.ค. 2567 | 05:07 น.

CHAYO ไตรมาส 1/67 ใช้งบ 100 ล้าน กวาดซื้อหนี้ใหม่เติมพอร์ตกว่า 600 ล้าน ยิ้มหุ้นกู้กระแสดี หนุนเงินทุนซื้อหนี้ไฮซีซันครึ่งปีหลัง เนื้อหอมลูกค้าเรียงคิวจีบซื้อ NPA มูลค่าหลัก 50-100 ล้าน/แปลง คาดไตรมาส 2/67 เห็นความชัดเจน 2 ดีล เร่งเครื่องดันบริษัทย่อย CCAP ระดมทุนปลายปีนี้

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า ภาพรวมการปล่อยมูลหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในประเทศในช่วงไตรมาส 1/2567 มีการปรับตัวลดลงมาเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดย TOR ที่มาถึงมือบริษัทในไตรมาสแรกนี้อยู่ที่เฉลี่ย 50,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ราว 100,000 ล้านบาท

โดยในช่วงไตรมาส 1/2567 บริษัทได้มีการซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพใหม่เข้ามาเติมพอร์ตได้แล้วประมาณ 400-500 ล้านบาท และใช้เงินลงทุนไปเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งนี้ปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าซื้อมูลหนี้ใหม่เข้ามาเติมพอร์ตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 10,000-15,000 ล้านบาท เพื่อรักษาฐานพอร์ตมูลหนี้คงค้างสิ้นปีให้อยู่ที่ระดับมากกว่า 110,000 ล้านบาท โดยวางงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท

เงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจากการเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท อายุ 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนปี 2570 ดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี และจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน โดยคาดว่าจะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ไปแล้วในช่วงวันที่ 12-14 มีนาคม 2567 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดกว่า 600 ล้านบาท จากเป้าหมาย 500 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินลงทุนรองรับการซื้อหนี้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ ซึ่งเป็นไฮซีซันของธุรกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2567 มูลหนี้ด้อยคุณภาพที่สถาบันการเงินทยอยเปิดประมูลทั้งหมดจะลดลงมากว่าครึ่ง อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 250,000 ล้านบาท จากเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มากกว่า 400,000 ล้านบาท สาเหตุเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่หมดลงในปีก่อนหน้า ทำให้ลูกหนี้มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มสูง แม้ในปีนี้หนี้ด้อยคุณภาพจะยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่คาดว่าทางสถาบันจะลดปริมาณการจำหน่ายหนี้ลงเพื่อเป็นการรักษาระดับราคา

"ในปีนี้เรายังคงเดินหน้าซื้อมูลหนี้ใหม่เข้ามาเติมพอร์ตอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การซื้อนั้นราคาต้องไม่แพง เพราะเราเห็นความสำคัญในตอนเรียกเก็บหนี้ หากหนี้ที่ได้มาต้นทุนไม่แพง ราคาและดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องชำระก็จะถูกลง เป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง และมองว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มรายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กของภาครัฐฯ ที่ออกมา เราค่อนข้างเห็นด้วย ซึ่งหากกลุ่มนี้มีการปรับโครงสร้างทางการเงินแล้ว มีสิทธิกู้เงินเพื่อหมุนเวียนในการทำธุรกิจรอบใหม่ เศรษฐกิจไทยก็จะหมุนเวียนไปได้ต่อ" นายสุขสันต์ กล่าว

ในส่วนสินทรัพย์ที่ดิน (NPA) รอการขายนั้น ยังคงมีลูกค้าให้ความสนใจเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 1/2567 มีลูกค้าที่เข้ามาทำสัญญาไปแล้วประมาณ 2 ดีล มูลค่าที่ดินหลัก 50-100 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถโอนกรรมสิทธิและรับรู้เข้ามาเป็นรายได้ไม่เกินในไตรมาส 2/2567 นอกจากนี้ ยังมีลูกค้ารายใหม่ที่ให้ความสนใจที่ดินแปลงใหญ่อีก 2-3 แปลง คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ต่อไป

พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงมีความสนใจและเปิดโอกาสกว้างในการศึกษาการลงทุนทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างเสถียรภาพให้กับการเติบโตของบริษัทอย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน (JV) ซึ่งบริษัทไม่ปิดกั้น 

ความคืบหน้าของ บมจ. ชโย แคปปิตอล หรือ CCAP ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการให้สินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน รวมถึงให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 125,000,000 หุ้น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มบริษัทที่มีฐานทุนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ติดปีกโตสำหรับแผนการขยายพอร์ตในกลุ่มธุรกิจสินเชื่อ โดยยังคงมีเป้าหมายที่จะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปลายปี 2567 นี้