"วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว" ปี 69 รายได้ COCOCO ทะลุหมื่นล้าน ทุ่มงบ1.5พันล้าน

13 มี.ค. 2567 | 00:30 น.

COCOCO วางเป้ารายได้ปี 67 แตะ 6.6 พันล้าน โตกว่า 38% จากปีก่อน และในปี 69 ทะลุ 1 หมื่นล้าน สยายปีกรุกขยายตลาดต่างประเทศต่อเนือง ยิ้มการตอบรับดี รับอานิสงส์การท่องเที่ยวฟื้นตัว อัดงบ 1.5 พันล้าน อัพแกร่งกำลังการผลิต

ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO ผู้ผลิต-จำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 67 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้แตะที่ระดับไม่น้อยกว่า 6,600 ล้านบาท จากปีก่อนที่ทำได้ระดับ 4,679.74 หรือเติบโตไม่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเดิมในปีก่อนที่ทำได้ 38.36% จากปีก่อนหน้า

โดยในปี 67 นี้ บริษัทยังคงเดินหน้าในการขยายตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างฐานลูกค้าในประเทศเดิมที่เข้าไปขยายตลาดมาแล้วก่อนหน้านี้ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทได้มีการขยายตลาดไปแล้วกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ความต้องการบริโภคน้ำมะพร้ามยังคงมีอยู่มาก และค่อนข้างเป็นที่นิยมทั้งคนไทยและต่างชาติ ทำให้ที่ผ่านมาการเข้าไปทำการตลาดได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี และภายในปี 69 จะมีการขยายตลาดเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 130 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ การที่การท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมามีการเติบโตที่เพิ่มขึ้น ทำให้มองว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนยอดขายให้กับบริษัทได้ด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งบริษัทยังคงมีแผนเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าในประเทศเยอรมันนี และสปป. ลาว เพิ่มเติมอีกด้วยในปีนี้ ทำให้คาดว่าจะเข้ามาช่วยหนุนยอดขายได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี บริษัทมีเป้าหมายในปี 68-69 รายได้รวมจะเติบโตแตะที่ระดับไม่ต่ำกว่า 8,400 ล้านบาท และ 10,000 ล้านบาท ตามลำดับ

แผนการลงทุนในปี 67 บริษัทวางการใช้งบไว้ที่ระดับ 1,500 ล้านบาท หลักเพื่อใช้รองรับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมะพร้าว เพิ่มเครื่องจักรขยายไลน์การผลิตใหม่ และเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 1,472 ล้านบาท, การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของธุรกิจอาหารสัตว์และขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์ มูลค่า 23 ล้านบาท และเพื่อเพิ่มไลน์การผลิตในส่วนของ Plant based ที่เป็นอาหารสำเร็จรูปและขนมหวาน มูลค่า 5 ล้านบาท

ส่งผลให้กำลังการผลิตในส่วนของน้ำมะพร้าวและกะทิ ในปี 67 จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 295,000 ตัน และ 99,000 ตัน คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย (Utilization rate หรือ U-rate) จะอยู่ที่ประมาณ 64% และ 46% ตามลำดับ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตที่ 107,000 ตัน และ 99,000 ตัน มี U-rate ที่ระดับ 70% และ 46% โดยบริษัทจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ทุกปีต่อเนื่องไปจนถึงปี 69 ทำให้กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 366,000 ตัน ในปี 68 และ 391,000 ตัน ในปี 69 เป็นต้น