CHAYO ปี 67 อัดงบ 2 พันล้าน ซื้อหนี้ใหม่กว่าหมื่นล้านเติมพอร์ต

04 ก.พ. 2567 | 03:30 น.

CHAYO คาดปี 67 มูลหนี้ในระบบแตะ 2 แสนล้าน อัดงบ 1.5-2 พันล้านบาทรองรับซื้อหนี้ใหม่ตุนพอร์ต ปักธงรายได้-พอร์ตโตไม่ต่ำกว่า 25% จากปีก่อน ทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง เดินหน้าดัน CCAP บ่.ลูกเข้า mai ปลายปีนี้

KEY

POINTS

  • CHAYO ตั้งเป้ารายได้-พอร์ตมูลหนี้คงค้าง ปี 67 โต 25%
  • CHAYO วางงบ 1.5-2 พันล้านบาท รองรับซื้อมูลหนี้ใหม่เติมพอร์ต
  • CHAYO จ่อรับทรัพย์ขายที่ดินแปลงใหญ่เพิ่ม

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ธุรกิจเจรจาติดตามเร่งรัดหนี้สิน ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ว่าตัวเลขมูลหนี้ด้อยคุณภาพที่จะเข้ามาประมูลในระบบในปี 2567 คาดว่าอาจมีปริมาณที่ลดลงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากปีก่อนมีการปล่อยมูลหนี้ออกมาเป็นจำนวนมากและสูงผิดปกติกว่า 300,000-400,000 ล้านบาท

คาดว่าในปี 2567 จะมีมูลหนี้ที่เข้ามาประมูลในระบบรวมประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท ลดลงความครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจุบันทางสถาบันการเงินเริ่มมีทยอยออกใบ TOR มาบ้างแล้ว เพียงแต่ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทจะเข้าประมูลซื้อหนี้ด้อยคุณภาพกองใหม่ในแบบอนุรักษ์นิยม เพราะมองว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้อาจดูไม่เอื้ออำนวจมากนัก โดยมูลหนี้ที่บริษัทได้มาต้องมีราคาที่ไม่แพงและพิจารณาแล้วว่าเหมาะสม

โดยในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมไว้ที่มากกว่า 25% ใกล้เคียงกับสถิติเป้าหมายเดิมในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจบปีบริษัทจะทำผลการดำเนินงานออกมาเติบโตได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และวางเป้าหมายการขยายตัวของพอร์ตมูลหนี้คงค้างไว้ที่ไม่น้อยกว่า 25% หรือแตะที่ระดับมากกว่าสิ้นปีก่อนที่ทำได้ประมาณ 101,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง

ในส่วนของเงินลงทุนในปี 2567 บริษัทวางการใช้งบลงทุนไว้ที่ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท (รวม Chayo JV) โดยแหล่งเงินทุนมาจากกำไรสะสมจากการดำเนินกิจการ เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และจากการออกหุ้นกู้ เป็นต้น รองรับการซื้อมูลหนี้ใหม่เข้ามาเติมพอร์ตเพิ่มในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 10,000-15,000 ล้านบาท จากปีก่อนสิ้นปีก่อนที่ซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาเติมพอร์ตได้สูงกว่า 19,000 ล้านบาท

ด้านการจำหน่ายสินทรัพย์ (NPA) นั้น ปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับความสนใจจากลูกค้าหลายรายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ดินที่มีหลากหลายขนาด มีมูลค่าตั้งแต่หลักสิบล้านเป็นต้นไปจนถึงหลักร้อยล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1/2567 ไม่น้อยกว่า 1 ดีล ขณะที่ที่ดินเข้าปัญหา "เกาะยาวใหญ่" ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนศาลฯ

พร้อมกันนี้ บริษัทยังเปิดโอกาสในการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ในมืออย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ตัดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังสนใจที่จะร่วมพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ ที่มีแนวคิดสมัยใหม่ โดยบริษัทพร้อมที่จะเป็น Landlord

ขณะที่บริษัท ชโย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ CCAP (บริษัทย่อย) ผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อให้แก่บุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการ และให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้าแก่พนักงานบริษัทเอกชนคู่สัญญา ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี โดยในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่หากว่าสามารถเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปuนี้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการของบริษัทฯ มีทั้งหมด 6 ประเภท ดังนี้

  1. สินเชื่อมีหลักประกัน ประเภทจดจำนองและขายฝากสินทรัพย์ (Secured Loan)
  2. สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน
  3. สินเชื่อผ่อนชำระสินค้า 
  4. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (P-Loan) 
  5. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) 
  6. ให้บริการเบิกเงินเดือนล่วงหน้า

ความคืบหน้าแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของ "CCAP" ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตามแผน Spin-Off  เพื่อวางโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้มีความชัดเจน โดย CCAP จะเป็นบริษัทหลัก (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัทในการดำเนินธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ ในเบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปี 2567