ITD ขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ 1.45 หมื่นล้าน 2 ปี

07 ม.ค. 2567 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2567 | 15:01 น.

ITD เตรียมออกหนังสือถึงถึงเจ้าหนี้ขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ 1.45 หมื่นล้านบาท ออกไปเป็นเวลา 2 ปี แต่ยังจ่ายดอกเบี้ยให้ตามปกติ

กระแสข่าว บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD เตรียมที่จะทำหนังสือส่งถึงเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอีก 2 ปี แต่ระหว่างทางจะยังจ่ายดอกเบี้ยให้ตามปกติ โดย กรุงเทพธุรกิจ เปิดเผยว่า ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังทาง ITD ซึ่งยอมรับว่า จะมีการส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดการเลื่อนชำระหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 8 ม.ค.2567 ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้จะรับทราบรายละเอียด โดยเฉพาะรุ่นที่กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 15 ก.พ.2567

หาก ITD ขอเลื่อนจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอีก 2 ปี จะส่งผลให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ ITD จำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ได้รับการชำระล่าช้าออกไปอีก 2 ปี โดยมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ปี 2568 และปี 2569 อีกปีละ 1 รุ่น ดังนี้

หุ้นกู้ ITD ที่จะครบชำระในปี 2567

  • รุ่น ITD242A ครบกำหนด 15 ก.พ.2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.25%
  • รุ่น ITD24DA ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.8%
  • รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5%

หุ้นกู้ ITD ที่จะครบชำระในปี 2568

  • รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เม.ย.2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 5.5%

หุ้นกู้ ITD ที่จะครบชำระในปี 2569

  • รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิ.ย.2569 มูลค่า 2,785 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6.2%

แหล่งข่าวสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า จากกระแสข่าว ITD ขอพักจ่าย หุ้นกู้ ทุกรุ่น 2 ปี เป็นการพักจ่ายเงินต้นแต่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยนั้น ถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่ปกติ ซึ่งทาง ITD จำเป็นต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ขออนุมัติเงื่อนไขดังกล่าวก่อน โดยผู้ถือหุ้นกู้ ITD ต้องพิจารณาว่าจะให้ยืดอายุ หรือจะ call default แบบไหนดีกว่ากัน

ประเด็นดังกล่าวยังต้องติดตามดูว่า หากกรณีนี้เจ้าหนี้ให้ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ อาจมีผลต่อเนื่องไปถึงเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ที่ปัจจุบัน ITD มีกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ไปด้วย

หนี้สิน ITD เพิ่มต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา หนี้สินรวมของ ITD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 88,107.74 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เพิ่มเป็น 107,604.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19,497.14 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

ขณะที่สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นจาก 103,789.90 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เป็น 119,373.34 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หรือเพิ่มขึ้น 15,583.44 ล้านบาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 13,135.08 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เหลือ 8,456.13 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566

ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562-2565 จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพิ่งพลิกมีกำไรในปีนี้ โดยงบ 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 379.05 ล้านบาท

ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ ITD เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ปี 2565 หลังจากบริษัทไม่สามารถดำรงอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามเงื่อนไขของหุ้นกู้และธนาคารบางแห่งในอัตราส่วนไม่เกินกว่า 3.0 เท่าได้ จนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ธนาคารได้ผ่อนผันเหตุผิดสัญญากรณีที่บริษัทฯ มีสัดส่วน Interest Bearing Debt to Equity สำหรับงบการเงินรวมรอบสิ้นปีบัญชี 2565 เกิน 3.0 เท่า

รัฐบาลเล็งแก้ปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระของไทย

ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นกู้ไทยยังสร้างความกังวลใจให้นักลงทุนและทางการต่อเนื่องจากปีก่อน หลังจากปีที่ผ่านมา มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ตามระยะเวลา อย่างบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ (JKN) หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน)หรือ ITD ที่มีกระแสข่าวว่า เฉียดที่จะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ หากไม่สามารถเจรจากับธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งให้ลงขันปล่อยสินเชื่อเติมทุนให้ได้ทันกำหนด 

ล่าสุดคณะกรรมการ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)และกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการหารือกับสมาคมตราสารหนี้ไทยและสมาคมจัดการลงทุน (บลจ.) เพื่อหาแนวทางดูแลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 

โดยมี 2 แนวคิดที่จะดูแล เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสภาพคล่องและเกิดการเบี้ยวหนี้ จนกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดหุ้นและระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยแนวทางแรกคือ ตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ เฉพาะที่มีเครดิต เรทติ้ง ส่วนหุ้นกู้อื่นๆ และที่ไม่มีเรทติ้งจะต้องปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ไป และอีกแนวทางคือ จะให้กองทุนดูแลทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้  เพราะไม่เช่นนั้น จะพังทั้งตลาดหุ้นกู้ โดยจะมีการระดมเงินเข้ามาแล้วให้ผลตอบแทน สำหรับคนที่นำเงินมาลงทุนด้วย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์หุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีกำหนดครบชำระจำนวนมากในปี 2567 อย่างใกล้ชิด พร้อมกับศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐบาล 

ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมา ช่วงที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ธปท.ก็ได้มีการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เพื่อดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำงานได้ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความกังวลจากผลกระทบของโควิด-19 คาดว่ามาตรการที่จะดูแลก็จะเป็นลักษณะเช่นนั้นด้วย

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า จะไม่มีบริษัทใดที่อยากขาดความเชื่อมั่นในระบบ และท้ายที่สุดแล้วบริษัทจะมีสภาพคล่อง เพื่อนำมาชำระหุ้นกู้ได้ตามกำหนด เพราะหากพิจารณาจากที่ผ่านมาหลังจากที่ธปท.ได้มีการจัดตั้งกองทุน BSF ขึ้นมาดูแลภาคเอกชน สุดท้ายแล้ว ภาคเอกชนก็ไม่ได้เข้ามาขอใช้บริการกองทุนดังกล่าวเลย