โบรกชี้รายได้ส่วนต่างดอกเบี้ย ดันกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ไตรมาส 4/66 พุ่ง

07 ม.ค. 2567 | 10:59 น.

4 โบรกประสานเสียง กลุ่มแบงก์ไตรมาส 4/66 กำไรฟูเมื่อเทียบจากปีก่อน จากรายได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM เตือนว่านี่ควรเป็นไตรมาสสุดท้ายของการขยาย NIM และตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป ธนาคารน่าจะเห็นแรงกดดัน จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ประกอบด้วย BAY BBL KBANK KKP KTB SCB TTB จะรายงานกำไรสุทธิในไตรมาส 4/2566 รวม 5.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และ 1% จากไตรมาสก่อน

ประมาณการที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน สะท้อนถึงผลกระทบของฐานที่ต่ำ เมื่อธนาคารบางแห่งตั้งสำรองสูงเป็นพิเศษในไตรมาส 4/65

ในไตรมาสนี้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2bps YoY เป็น 3.1% จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะที่ตัวอื่นยังคงฟื้นตัวช้า และถูกกดดันจาก opex ซึ่งมักจะสูงในไตรมาสสุดท้ายของปีด้วย แต่ทางขอเตือนว่านี่ควรเป็นไตรมาสสุดท้ายของการขยาย NIM ตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป ธนาคารน่าจะเห็นแรงกดดันเรื่อยๆ จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการปรับราคาเงินฝากประจำ ทำให้ NIM เริ่มลดลง

ด้าน Credit cost คาดว่าจะลดลงจาก 1.64% ในไตรมาส 3/66 เป็น 1.58% ในไตรมาส 4/66 เนื่องจากธนาคารรายใหญ่บางแห่ง (SCB/BAY/KKP) บันทึกต้นทุนสินเชื่อสูงกว่าปกติในไตรมาสที่ 3 ประเมินว่าคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารเหล่านั้นไม่น่าจะลดลงในไตรมาส 4/66 ทำให้สามารถลด Credit Cost ได้ ขณะที่ตัวเลข NPL ที่รายงานน่าจะยังคงทรงตัว

ในอนาคตข้างหน้า ทางฝ่ายคาดว่าจุดอ่อนในการทำกำไรจะปรากฏให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น กดดันราคาหุ้น จึงให้ NEUTRAL ในภาคส่วนนี้ แนะนำให้ “ซื้อ” BBL และ SCB โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 195.00 บาท และ 122.00 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เผยในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/66 ที่ 46,188 ล้านบาท ลดลง 8.5% จากไตรมาสก่อน จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี แต่คาดโต 39.6% เมื่อเทียบช่วงเดียสกันกับปีก่อน หนุนจากการตั้งสำรองที่ปรับตัวลง และรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตาม NIM ที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ คาด KBANK กำไรเร่งตัวขึ้นเด่น เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนจากฐานที่ต่ำ เพราะไม่มีการตั้งสำรองพิเศษเหมือนปีก่อน ประกอบกับ คุณภาพสินทรัพยเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว รองลงมาคือ BBL ที่ได้ประเด็นบวกจาก NIM ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยคงคำแนะนำลงทุนในกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” เนื่องจากคาดทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะเริ่มทรงตัว และมีโอกาสปรับลงในช่วงปลายปี ทำให้ NIM ในปีนี้ไม่โดดเด่นเหมือนกับปี 66 ส่งผลให้การเติบโตของ PPOP ค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ มองว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารยังซื้อขายด้วย Valuation ที่ไม่แพง และมีประเด็นบวกจากเงินปันผลจากกำไรสุทธิ 2H66 ที่จะทยอยประกาศในไตรมาส 1/67 จึงมองว่ายังมีความน่าสนใจ

แนะนำ KBANK ราคาเป้าหมาย 162 บาท เป็น Top Pick ของกลุ่ม ซึ่งมีผลดำเนินงานในไตรมาส 4/66 ที่โตเด่นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนเป็นปัจจัยหนุนระยะสั้น ส่วนระยะกลาง/ยาว คาดจะเริ่มเห็นทิศทางการตั้งสำรองที่ลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้คาดจะมีปันผลจากกำไรสุทธิครึ่งหลังปี 66 อีกหุ้นละ 3.50 บาท คิดเป็น Div.Yield 2.6%

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สำหรับกลุ่มธนาคาร แนะนำ Neutral โดย KTB BBL BAY ปล่อยกู้ในตลาดเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก QTD (ต.ค. และ พ.ย. 66) ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงดำเนินงานในโหมดระมัดระวัง QTD (ต.ค. และ พ.ย. 66) ด้วยการปล่อยกู้ในตลาดเงินที่มีความต่ำแทนการปล่อยกู้สินเชื่อทั่วไป และลดการลงทุนในตราสารหนี้ในรายธนาคาร ทางฝ่ายพบว่าในส่วนของธนาคารขนาดใหญ่ และกลางนั้น BAY ลดสถานการณ์ลงทุนในตราสารหนี้ลงมากที่สุด ประมาณ -7% QTD ในขณะที่ของ KTB -4% และของ BBL และ KBANK -3% เท่ากัน การลงทุนที่ลดลงน่าจะสะท้อนถึงการขายทำกำไรในช่วงที่แนวโน้มดอกเบี้ยกำลังเปลี่ยนทิศ และฉุดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง

ในขณะเดียวกัน ธนาคารต่าง ๆ หันมาปล่อยกู้ในตลาดเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก QTD โดย BAY +63%, BBL +37%, KTB +29%, TTB +44% และ KKP +77% ซึ่งการที่ธนาคารพากันปล่อยกู้ในตลาดเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากนี้น่าจะสะท้อนถึงอุปสงค์สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ในกรณีของ BAY และ BBL) และอุปสงค์สินเชื่อภาครัฐ (ในกรณีของ KTB)

ความคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง ฉุดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกลดลง ซึ่งจะกดดันยีลด์ของตราสารหนี้และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีอิงกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ปล่อยกู้ในตลาดเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากจะกดดันยีลด์และมาร์จิ้น แต่จะได้ชดเชยด้วยกำไรจากเงินลงทุนแทน (FVTPL gain) โดยเฉพาะ BBL KTB และ TTB

ส่วนค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ คาดว่าจะไม่เพิ่มจากเดิมเพราะคุณภาพสินทรัพย์ทรงตัว เนื่องจากธนาคารต่าง ๆ หันมาปล่อยกู้แบบระมัดระวังกันตั้งแต่กลางปี 66 จนถึงสิ้นปี และเน้นขยายสินเชื่อประเภทที่ความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันทางด้านคชจ.สำรอง (credit cost) ลดลงในไตรมาส 4/66 โดยเฉพาะ KBANK SCB TTB และ KKP และในทำนองเดียวกัน ธนาคารต่าง ๆ ยังคงกำหนด credit cost ไว้ในระดับสูงเพื่อ write-off หนี้เสีย เพื่อรักษาระดับคุณภาพสินทรัพย์ให้ทรงตัว

คาดว่ากำไรในไตรมาส 4/66 จะลดลง 3% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบช่วงเดียสกันกับปีก่อน และเพิ่มขึ้น 20% ในปี 66 ส่วนกำไรที่ลดลงจากไตรมาสก่อน สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายของปี, NII ที่โตน้อยลงเนื่องจาก NIM ลดลง ในขณะที่คาดว่า credit cost จะทรงตัว เพราะทุกธนาคารปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมา

ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนมาจากฐานกำไรที่ต่ำของ KBANK (credit cost พุ่งกระฉูดใน 4Q65) และ SCB (ถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานใน 4Q65) นอกจากนี้ NIM ยังถูกกดดันเนื่องจากการปล่อยกู้เป็นจำนวนมากในตลาดเงินซึ่งให้ yield ต่ำ และมีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะ KTB TTB BBL และ KKP