ผู้ถือหน่วยลงทุน LTF-RMF ร้อง ก.ล.ต. แล้ว ปม บลจ. ลงทุน “STARK”

24 ก.ค. 2566 | 10:45 น.

ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายหน่วยลงทุน LTF-RMF เข้ายื่นหนังสือร้อง ก.ล.ต. เหตุ บลจ. ลงทุนหุ้น “STARK” ในฐานะความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 หลังทำเสียหาย 3.6 พันล้านบาท

นายสิทธา สุวิรัชวิทยกิจ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายหน่วยลงทุน LTF-RMF ได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้สืบสวนสอบสวน และแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งหนึ่ง ที่ลงทุนหุ้น "STARK" ในฐานะความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 

สำหรับหนังสือร้องเรียนได้กล่าวหาว่า กองทุนที่กระทำความผิด ไม่ได้จัดการกองทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน มีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ

ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมขอให้ทาง ก.ล.ต. เป็นตัวแทนของผู้เสียหายดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งอีกด้วย

ภาพประกอบข่าว STARK

อย่างไรก็ตามนักลงทุนที่ได้ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ตระหนัก และเข้าใจข้อจำกัดในการลงทุนดีว่าย่อมมีทั้งผลตอบแทน และความเสี่ยง แต่กรณีที่ต้องมาร้องเรียนเนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามสภาพการลงทุนตามปกติวิสัย 

แต่มาจากการกระทำผิดกฎหมายในหลากหลายประเด็น รวมทั้งมีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุน โดยเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น "STARK" เอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 3.72 บาท ไปถึง 5 บาท

แต่ต่อมาเมื่อเกิดปัญหา จากการที่ STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ประเทศเยอรมนีในเดือน ธ.ค. 65 แล้ว กองทุนอื่นๆพากันปรับพอร์ตขายหุ้น STARK ออกไป 

เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานทางลบได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พักการซื้อขาย 4 เดือน ก่อนที่จะมาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย. 66 แต่ทางผู้กระทำผิดก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียงเล็กน้อย

ภายหลังผู้กระทำผิดได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในวันที่ 23 และ 27 มิ.ย. 66 ว่า ยังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และต่อมาได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดหลักทรัพย์ ให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 66 ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ ซึ่งน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท อาจทำให้ขาดทุนไม่ต่ำกว่า 3,600 ล้านบาท หรือไม่น่าจะน้อยกว่า 2,600 ล้านบาท

ด้าน ดร.อุรสา บรรณกิจโศภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นผู้แทนทาง ก.ล.ต. รับหนังสือร้องเรียน พร้อมกล่าวว่า หลังจากนี้ทาง ก.ล.ต. ได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญทั้งผู้เสียหาย และ บลจ. กองทุนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง โดยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และดำเนินตามกฏหมายต่อไป