นโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน ของพรรคการเมืองผู้นำที่กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลในช่วงนี้นั้น ก่อให้เกิดความกังวลต่อตลาดทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นไม่น้อย เหตุผลก็เพราะว่ามีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงแนวทางหรือปรัชญาทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยใช้มานานและ“ได้ผลดี”ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้ “เจริญเติบโต” ต่อเนื่องมายาวนาน นั่นก็คือ เศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมเสรี” ซึ่งก็ทำให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้นและส่วนใหญ่ก็ “พ้นจากเส้นขีดของความยากจน” อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนหรือข้อเสียที่เกิดขึ้นก็คือ“คนรวย”นั้นรวยขึ้นมาก “เกินไป” ส่วนคนจนนั้นมีรายได้และทรัพย์สมบัติน้อยเกินไป ความแตกต่างนั้นสูงลิ่ว ทำให้เกิดความไม่พอใจในคนจำนวนมากที่ต้องการลดช่องว่างนี้
นโยบายศก."รัฐบาลใหม่"กับผลกระทบที่อาจตามมา
แนวทางใหม่ที่เสนอก็คือ การเก็บภาษีธุรกิจที่ “คนรวย” เป็นเจ้าของมากขึ้น เก็บภาษีกิจกรรมที่คนรวยทำมากขึ้นและเก็บ “ภาษีทรัพย์สิน” ของคนที่รวยหรือมีความมั่งคั่งมากกว่าปกติมาก นอกจากนั้น ก็จะ“จัดการ” กิจการของคนรวยที่ “ผูกขาด” การทำธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบคนที่รวยน้อยกว่าหรือเป็นธุรกิจรายย่อย แล้วใช้เงินที่ได้เอามา “แจกจ่าย” หรือเป็น “สวัสดิการ” ให้แก่คนจน หรือมองในทางวิชาการก็คือ จะเปลี่ยนแนวทางหรือปรัชญาทางเศรษฐกิจให้เป็นแบบ “สังคมนิยม” ที่เน้น “ความเท่าเทียม” ทางเศรษฐกิจของประชาชนแทนที่การเน้นการเติบโตอย่างที่ทำติดต่อกันมายาวนาน
แต่คนรวยและรวยมากในประเทศไทยส่วนใหญ่และน่าจะมากกว่า 90% ของทั้งหมดที่ไม่ได้มาจากการทำผิดกฎหมายนั้น ก็มักจะมาจากการ “ลงทุน” ทำธุรกิจ และในระยะหลังๆ ก็เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ว่าที่จริงมูลค่าความมั่งคั่งของ “คนรวย”ที่อยู่ในตลาดหุ้นนั้นสูงถึงเกือบ 20 ล้านล้านบาท หรือมากกว่ารายได้ต่อปีของประชาชาติไปแล้ว ดังนั้นเป้าหมายของการเรียกเก็บภาษีจึงเน้นไปที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ตัวอย่างภาษีที่มีการประกาศแล้วว่าอาจจะเก็บก็เช่น ภาษีนิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 23% ภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การจัดการกับการ “ผูกขาด”ของบริษัทขนาดใหญ่มากที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในตลาดหุ้น และการเก็บภาษีความมั่งคั่งสำหรับคนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกินกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจำนวนมากก็เป็นคนที่ถือหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งหมดนั้นมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทและการประเมินมูลค่าหุ้นอย่างแน่นอนและอาจจะรุนแรง ซึ่งอาจจะทำให้หุ้นตกซึ่งจะส่งผลให้การระดมทุนเพื่อขยายกิจการไม่เติบโตและในบางกรณีก็อาจจะมีการ “ถอนทุน” ออกจากประเทศไทยไปด้วย โดยคนที่ถอนอาจจะเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่อาจจะมองว่าตลาดหุ้นไทยไม่เติบโตและให้ผลตอบแทนต่ำกว่าคู่แข่งที่เป็นตลาดที่เติบโตเร็วกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรืออาจจะเป็นนักลงทุนไทยเองที่หันไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ และนั่นก็จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลง ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้ลดน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการให้สวัสดิการที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในอนาคต
การตกลงของดัชนีตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของผลประกอบการเพราะการเก็บภาษีในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของ“ต้นทุน”ของการซื้อ-ขายหุ้นเนื่องจากภาษีกำไรจากการลงทุนและอื่น ๆ นั้น ยังส่งผลต่อ “คนชั้นกลาง” จำนวนมาก อาจเป็นหลายล้านคน ที่ลงทุน “ออมหุ้น”เพื่อการเกษียณพวกเขาเหล่านั้นต่างก็ลงทุนในหุ้นเองหรือผ่านกองทุนรวมหรือกองทุนต่าง ๆ ที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นทรัพย์สินที่“ให้ผลตอบแทนสูงสุด”เมื่อเทียบกับการลงทุนอื่น ๆ โดยเฉพาะการฝากเงินในธนาคาร แต่ถ้าหากว่าหุ้นไทย “ตกลงต่อเนื่องระยะยาว” อันเป็นผลจากนโยบายที่ “ไม่สนับสนุนตลาดทุน” ของรัฐ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ? พึ่งพาสวัสดิการหรือ?
แนะทางเลือก เพิ่มภาษี VAT- ตัดงบจำเป็นน้อย
ทางเลือกหนึ่งของรัฐบาลที่จะทำได้ก็คือ การเพิ่มภาษี VAT แทน ซึ่งจะได้เม็ดเงินเพิ่มตามจำนวนที่ต้องการและ“ไม่ผิดพลาด”มาใช้ในการทำสวัสดิการที่ต้องการ และไม่เกิด “ผลข้างเคียง” มาก ว่าที่จริงภาษี VAT ของไทยก็ยังต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก ในขณะที่ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้น โอกาสที่เม็ดเงินจะผิดพลาดนั้นสูงมากเนื่องจากทรัพย์สินที่อิงกับราคาหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้นจะมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในทางที่ลดลง ประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีที่ไทยกำลังคิดนำมาใช้นั้น “น่าผิดหวัง” หลายประเทศต้องเลิกเก็บภาษีดังกล่าวด้วยซ้ำ
อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการปรับลดงบประมาณของประเทศในส่วนงานอื่นที่มีความจำเป็นน้อยกว่าเพื่อที่จะนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้ในงบสวัสดิการ นี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะทำอยู่แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นที่จะต้องให้สวัสดิการเต็มที่ทันทีก็ไม่ได้มากถึงขนาดนั้นการค่อย ๆ “ปรับ” งบค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ดีนักก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมกว่า
เตือนการใช้นโยบายสุดโต่ง อาจนำมาซึ่ง"วิกฤติ"
ในอีกด้านหนึ่งเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างรวดเร็วนั้น ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีนักเพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและไม่พึงประสงค์ได้ตัวอย่างเช่น อาจจะทำให้ตลาดทุนตกต่ำลงซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งจะกลับมาส่งผลต่อเม็ดเงินที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนและความเท่าเทียมและลดเม็ดเงินที่จะลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค ซึ่งก็จะลดการลงทุนของเอกชนในตลาดกลายเป็น “วัฏจักรแห่งความเลวร้าย”ซึ่งน่าจะเคยเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในโลกที่ใช้นโยบาย “สุดโต่ง” เกินไป และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นจาก “วิกฤติ” ที่ร้ายแรงของประเทศ
เป้าหมายที่เป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง แทนที่ความเท่าเทียมเป็นหลักก็คือ การลดจำนวนประชากรที่ยังอยู่ “ใต้ขีดความยากจนของประเทศ” ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย พูดง่าย ๆ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตที่ดีเพียงพออย่าง “มีศักดิ์ศรี” ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ มีสวัสดิการรองรับในด้านของความเจ็บป่วย การศึกษาและการตกงาน เป็นต้น
โดยเป้าหมายนี้ยังเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยความเชื่อที่ว่า เมื่อประเทศรวยจนถึงระดับหนึ่ง เช่น กลายเป็นสังคมที่มี “รายได้สูง” แล้ว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะง่ายขึ้นมาก เพราะรัฐจะมีเงินมากพอ เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ที่มีความมั่งคั่งพอที่จะจ่ายภาษีในอัตราที่สูงได้ และนี่ก็คงเป็นโมเดลของประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปหลายประเทศ
ตลาดหุ้นยังไม่พัง แต่ความเชื่อสำคัญเท่าๆความจริง
หลายคนอาจจะคิดว่าการพูดว่าตลาดทุนหรือตลาดหุ้นจะ“พัง” หรือมีประสิทธิภาพลดลงมากจนไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้นั้น อาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่ผมคิดว่าในโลกยุคปัจจุบันนั้น “ความเชื่อสำคัญเท่า ๆ กับความจริง” กล่าวคือถ้าคน “เชื่อ”ว่าประเทศเราไม่สนับสนุนตลาดทุนหรือตลาดหุ้น หรือเราจะเป็น “สังคมนิยม” เขาก็จะตัดสินใจไม่มาลงทุนหรือถอนการลงทุนออกไป อาจจะโดยการขายหุ้นในตลาดอย่างต่อเนื่อง นั่นก็จะทำให้คนอื่นต้องทำตามเพราะกลัวหุ้นตก และในที่สุดก็ทำให้ตลาดทุนและตลาดหุ้นตกต่ำลง ความเชื่อก็กลายเป็นความจริง
สุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ หลายคนอาจจะคิดว่า ผมอาจจะมี Bias หรือความลำเอียงในฐานะของคนในตลาดหุ้นที่จะต้องเสียภาษีหนัก คำตอบของผมก็คือ ถ้าคำนวณว่าสุดท้ายผมต้องเสียภาษีเทียบกับความมั่งคั่งไม่เกินปีละ 0.5-1% ต่อปี ผมก็คงไม่เดือดร้อนหรอก ถ้าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 7-8% และผมอาจจะทำได้ดีกว่านั้นด้วย
สิ่งที่ผมกลัวก็คือ ตลาดหุ้นและตลาดทุนจะ “วาย” ลงทุนแล้วดัชนีมีแต่จะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ เรากำลังผ่าน “ทศวรรษที่หายไป” ในปีนี้ และก็หวังว่าเราจะเริ่มฟื้นตัวสู่ “ทศวรรษแห่งความรุ่งเรือง” หรืออย่างน้อยเป็น “ทศวรรษแห่งความยั่งยืน” หรือทศวรรษปกติ แต่ถ้ามันไม่ใช่ นี่ก็อาจจะเป็น “อวสานของตลาดหุ้น” ที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร