ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 323 จุด รับแนวโน้มผลประกอบการสดใส

29 มี.ค. 2566 | 23:37 น.

ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในวันพุธ (29 มี.ค.) หลังบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงบริษัทไมครอน เทคโนโลยี เผยแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวล

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,717.60 จุด พุ่งขึ้น 323.35 จุด หรือ +1.00%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,027.81 จุด เพิ่มขึ้น 56.54 จุด หรือ +1.42% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,926.24 จุด พุ่งขึ้น 210.16 จุด หรือ +1.79%

ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีต่างก็ปิดพุ่งขึ้นอย่างน้อย 1% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่เหนือระดับเฉลี่ยรอบ 50 วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดวิกฤตในภาคธนาคารของสหรัฐ และดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.
 

หุ้นไมครอน เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 7.2% และเป็นปัจจัยหนุนดัชนี Nasdaq และ S&P500 ดีดตัวขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยหนุนดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ตลาดฟิลาเดลเฟีย (PHLX semiconductor index) พุ่งขึ้น 3.3% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์รายได้ลดลงในไตรมาส 3 

หุ้นลูลูเลมอน แอธเลติกา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องแต่งกายกีฬาชั้นนำ ทะยานขึ้น 12.7% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์รายได้รายปีที่แข็งแกร่ง

คิง ลิป นักวิเคราะห์จากบริษัท BakerAvenue Wealth Management ในซานฟรานซิสโกกล่าวว่า "ผลประกอบการที่สดใสของทั้งสองบริษัทถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะไมครอน เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย หากบริษัทเหล่านี้มีมุมมองที่เป็นบวกในแง่ของยอดสั่งซื้อ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี"

แนวโน้มผลประกอบการที่สดใสของไมครอน เทคโนโลยี ช่วยหนุนหุ้นบริษัทผลิตชิปและบริษัทเทคโนโลยีดีดตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นอินวิเดีย พุ่งขึ้น 2.17% หุ้นเอเอ็มดี ปรับตัวขึ้น 1.6% หุ้นอินเทล ทะยานขึ้น 7.61% หุ้นไอบีเอ็ม บวก 0.29% หุ้นไมโครซอฟท์ ดีดขึ้น 1.92% หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 1.98% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ พุ่งขึ้น 2.33%

หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นด้วย โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ป พุ่งขึ้น 1.59% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ บวก 0.72% หุ้นเจพีมอร์แกน เพิ่มขึ้น 0.20% หุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ พุ่งขึ้น 1.6%


         

นักลงทุนยังคงจับตาแนวทางการใช้กฎระเบียบในภาคธนาคารของสหรัฐหลังจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) โดยสภาคองเกรสได้เรียกตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการกำกับดูแลภาคธนาคารให้เข้าอธิบายว่าเพราะเหตุใด SVB และ SB จึงล้มละลายในช่วงต้นเดือนมี.ค. โดยนายไมเคิล บาร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การล้มละลายของธนาคารทั้ง 2 แห่งเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของทีมผู้บริหาร และเสนอว่าธนาคารที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 1 แสนล้านดอลลาร์ขึ้นไปอาจจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี  PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพราะสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)