SST รุกธุรกิจอาหารเต็มสูบ รับเปิดประเทศ

02 ก.พ. 2566 | 11:30 น.

SST มองโอกาสคลังเอกสารเติบโตสูง จากข้อบังคับรัฐ เล็งพัฒนาที่ดิน 17 ไร่ รองรับผู้เช่าทั้ง “คลังสินค้า-เอกสาร” พร้อมรุกลงทุนธุรกิจอาหาร รับเปิดประเทศ ดันธุรกิจอาหารเครื่องดื่มโตพุ่ง

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจปรับกลยุทธ์องค์กรให้เป็นธุรกิจดิจิทัล (Digital Business) มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งเลือกเก็บเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในทางปฎิบัติภาครัฐของเมืองไทยยังคงมีข้อบังคับทางกฎหมาย กำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องเก็บข้อมูลเป็นเอกสารไว้เพื่อตรวจสอบหรืออ้างอิง 

นายสมศักดิ์ แต่งประกอบ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SST เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันบริษัทมีคลังเอกสารให้เช่าทั้งสิ้น 18 แห่ง ซึ่งมีผู้เช่าเต็มพื้นที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นธนาคารและบริษัทประกันประมาณ 30-40% หน่วยงานราชการ 20-30% ที่เหลือเป็นโมเดิร์นเทรดและบริษัททั่วไป ดังนั้นจึงมีแผนที่จะเพิ่มคลังเอกสาร คลังสินค้าให้ลูกค้าเช่าเพิ่มเติม โดยอยู่ระหว่างพิจารณาพัฒนาพื้นที่ 17 ไร่ย่านสุขสวัสดิ์ สมุทรปราการ

SST รุกธุรกิจอาหารเต็มสูบ รับเปิดประเทศ

สำหรับพื้นที่ 17 ไร่นั้น ขณะนี้ได้ถมที่รอไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแผนเบื้องต้นกำหนดแนวทางพัฒนาเป็น 3 เฟส ประกอบด้วย เฟสแรกจะสร้างคลังสินค้าขึ้นมาเพื่อให้บริษัทในเครือเช่า เฟส 2 จะสร้างให้ลูกค้าทั่วไปเช่า และเฟส 3 จะสร้างคลังเอกสาร โดยประมาณการลงทุนไว้ 200 ล้านบาท

“แนวโน้มอุตสาหกรรมการให้บริการคลังเอกสารยังเป็นบริการสำคัญในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจในทุกๆภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นและอ้างอิงทางเอกสารหลักฐานเชิงข้อมูลทางธุรกิจ รวมถึงการตรวจสอบเอกสารของหน่วยงานภาครัฐ”นายสมศักดิ์กล่าว

โดยเฉพาะกรมสรรพากร กำหนดให้จัดเก็บเอกสารบางประเภทในรูปแบบต้นฉบับกระดาษ เช่น เอกสารทางบัญชี เอกสารทางการเงิน เอกสารนิติกรรมต่างๆและเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางกฎหมายและภาษีอากร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบ กำกับดูแล และสืบค้นตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นปัจจุบันบริษัทต่างๆ ยังจำเป็นต้องเก็บรักษาเอกสารอย่างน้อย 5-10 ปี หรือเป็นไปตามนโยบายของแต่ละบริษัทก่อนที่จะถึงช่วงที่กำหนดทำลายเอกสาร 

ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ สะท้อนว่า ดีมานด์การใช้บริการจัดเก็บเอกสารยังคงอัตราการเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง SST มีรายได้หลักมาจากธุรกิจคลังสินค้าและคลังเอกสารที่เติบโตดี โดยเฉพาะคลังเอกสารที่มีรายได้ค่าเช่าเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยเติบโตปีละ 5% เชื่อว่า รายได้จากธุรกิจคลังเอกสารยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นกัน

SST รุกธุรกิจอาหารเต็มสูบ รับเปิดประเทศ

ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มกลับมาเติบโตอย่างมีนัยยสำคัญ หลังภาครัฐเปิดเมืองอย่างเป็นทางการ ซึ่งบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นและมีส่วนร่วมในการบริหาร บมจ.มัดแอนด์ฮาวด์ (MUD & HOUND PUBLIC COMPANY LIMITED) สัดส่วนถึง 65% ซึ่งมีทั้งอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์โอ ปอง แปง (Au Bon Pain), บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์ (Baskin Robbin), ดังกิ้นโดนัท (Dunkin Donuts),เกรฮาวด์ ออริจินัล (Greyhound)ฯลฯ

ขณะที่แบรนด์ ดังกิ้นโดนัทได้เพิ่มไลน์ธุรกิจทำร้านชาบูชื่อ “ไซม่อนเซย์ชาบู Simon Says Shabu” ซึ่งปี 2566 บริษัทมีแผนจะเพิ่มสาขาอีก หลังจากเปิดให้บริการแล้ว 2 สาขา (แมคโครบางบอน กับพัฒนาการ) ในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ทางเกรฮาวด์ได้แตกไลน์แบรนด์ลูก ชื่อ “อันเดอร์ฮาวด์” ซึ่งตั้งอยู่ชั้นใต้ดินสยามพารากอน

สำหรับแบรนด์ “Au Bin Pain”ได้ขยายแฟรนไชส์ไปในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อสานต่อนโยบายให้คนในต่างจังหวัดได้กินของดีราคาถูก โดยจะเห็นได้จากกลุ่มเป้าหมายของโอปองแปงจะครอบคลุมใน 3 กลุ่มคือ โรงพยายาล อาคารสำนักงานหรือออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว พร้อมออกแบบเป็น “คีออส Kiosk” เป็นต้น

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า มองไปข้างหน้าธุรกิจอาหารจะเติบโตก้าวกระโดด แนวโน้มน่าจะดี เพราะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ปี 2565 โดยเฉพาะหลังเปิดประเทศ ซึ่งบริษัทได้รับผลกระทบเต็มๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนโครงสร้างรายได้ปีนี้ คงไม่เพิ่มมากจากปีก่อน โดยหมวดอาหารมีรายได้ 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจาก ดังกิ้น 1,300 ล้านบาท ส่วนรายได้ทรัพย์ศรีไทยเหลือ 10%

“ด้วยแนวโน้มธุรกิจคลังสินค้าและคลังเเอกสารที่สร้างผลกำไรดีอยู่แล้ว ผนวกกับธุรกิจอาหารที่บริษัทเข้าไปลงทุน ทำให้กำไร SST ปี 2566 เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่า จะเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้นกว่าปีนี้ ซึ่ง SST ไม่ปิดโอกาสในการลงทุนในธุรกิจอาหารเพิ่มเติม ขึ้นกับจังหวะและความเหมาะสมเป็นหลัก”นายสมศักดิ์กล่าว

ปัจจุบัน SST ขยายการลงทุนธุรกิจต่างๆ 9 บริษัทครอบคลุม 3 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มและธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีบริษัทย่อย 9 บริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 SST มีเงินลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทย่อย 1,555 ล้านบาทแบ่งเป็น

  1. บจ.เอสเอสทีคลังสินค้า 5 ล้านบาท
  2. บมจ.มัดแอนด์ฮาวด์ 1,535 ล้านบาท
  3. บจ.เอสเอสทีรีท แมเนเมนต์ 15 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,858 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566