เงินบาทปิดตลาดที่ระดับประมาณ 34.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ

03 ม.ค. 2566 | 10:48 น.

เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งสวนทางเงินเยอะ รวมทั้งรับแรงหนุนจากทิศทางฟันด์โฟลว์ –เงินหยวนแข็งค่า

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 34.29 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับประมาณ 34.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมรอบแรกของปีนี้

ซึ่งสวนทางกับเงินเยนที่ตลาดเริ่มคาดหวังมากขึ้นว่า อาจเห็นธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้  นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากทิศทางฟันด์โฟลว์ และการแข็งค่าของเงินหยวนที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากการทยอยเปิดประเทศ 

 

สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยถึง 1,441.77 ล้านบาท และ 11,321 ล้านบาท ตามลำดับ

 

ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 3 มกราคม 2566 โดยธปท. อยู่ที่ -31.74 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -28.34 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 34.10-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนธ.ค.ของยุโรป รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนพ.ย. ดัชนี PMI /ISM ภาคบริการเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟด

 

 

ค่ายกรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.10-34.75 ลุ้นตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ

 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า  เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.10-34.75 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.53 บาท/ต่อดอลลาร์

 

โดยในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 201,895 ล้านบาท และ 48,448 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 3.6% จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปีที่สองติดต่อกันและการพุ่งขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลก

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ในปี 2565 แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก วิกฤติพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน การปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)และธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอีกหลายแห่ง รวมถึงการใช้นโยบาย Zero COVID ของจีน สร้างแรงกดดันต่อทั้งราคาสินทรัพย์เสี่ยงและพันธบัตรในวงกว้าง

 

ด้านตลาดแรงงานสหรัฐฯแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจแห่งอื่น ทั้งนี้ ในปี 2565 เฟดขึ้นดอกเบี้ยรวม 425bp หนุนดัชนีดอลลาร์ขึ้น 7.8% ขณะที่เงินยูโรและเยนอ่อนค่าลง 5.7% และ 13.9% ตามลำดับ

 

สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลภาคการผลิต ภาคบริการ การจ้างงานเดือน ธ.ค. ของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค. ของเฟดเพื่อประเมินทิศทางภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป

 

ขณะที่นักลงทุนเตรียมรับภาวะถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้หลังเฟดคุมเข้มนโยบายการเงินแบบเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาสถานการณ์ในจีนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว ทางด้านเงินเยนอาจได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ของผู้ร่วมตลาดที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)อาจยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ แม้บีโอเจระบุว่ายังคงสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษต่อไปก็ตาม

 

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานเดือนธ.ค.ของไทยจะขยับสูงขึ้น ทางด้านธปท.รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ย.พลิกขาดดุล 0.4 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากแรงส่งภาคบริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการบริโภคภาคเอกชน แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบการส่งออก อนึ่ง ในระยะนี้ เราคาดว่าตลาดจะติดตามมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกลับมาต้อนรับผู้เดินทางจากจีนอีกครั้ง