ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์

24 พ.ย. 2565 | 00:41 น.

เงินบาทยังมีปัจจัยหนุน-ชะลอ การแข็งค่าทั้งภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด -การทยอยขายทองคำทำกำไรเมื่อราคาทองปรับขึ้น แต่ผู้นำเข้าเริ่มซื้อเงินดอลลาร

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์"แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.27 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด คือ ปัจจัยที่ช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง เช่นเดียวกับ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำที่อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไร

ทว่า เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าจนหลุดโซนแนวรับ 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์เนื่องจากในช่วงปลายเดือน บรรดาผู้นำเข้าอาจเริ่มทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ แรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติก็สามารถเป็นอีกปัจจัยที่จะชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้
 

อย่างไรก็ดี ควรรอติดตามรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยหากยอดการส่งออกขยายดีตัวกว่าคาด จนทำให้ดุลการค้าขาดดุลน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้

แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงชัดเจน อาจทำให้โอกาสที่ยอดการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าคาดนั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดจึงควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หากดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามที่ตลาดคาด หรือ ขาดดุลมากกว่าคาด


 การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.15 บาท/ดอลลาร์


รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่ระบุว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างสนับสนุนให้ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 47.6 จุด และ 46.1 จุด ซึ่งแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด หมายถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิต/ภาคการบริการ)

 

ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สูงมากนัก หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ลงมากขึ้น (สอดคล้องกับความกังวลของเจ้าหน้าที่เฟดในรายงานการประชุมเฟดล่าสุด) นอกจากนี้ แนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth Nvidia +3.0%, Alphabet +1.5% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.99% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.59%



ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น +0.60% หนุนรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าบรรดาธนาคารกลางจะเริ่มชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจยุติการขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีหน้าก็มีส่วนช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้น Growth ฝั่งยุโรป อาทิ ASML +2.3%
 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งมั่นใจว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยไปได้ไกลมาก ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.69% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ ขึ้นกับมุมมองของตลาดต่อระดับสูงสุดของดอกเบี้ยเฟด (Terminal Rate) โดยต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

โดยเฉพาะข้อมูลเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน ในช่วงก่อนถึงการประชุมเฟดในเดือนธันวาคม ซึ่งเราคาดว่าจะเป็นจุดที่ชี้ชะตาบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ว่าจะกลับมาเป็นเทรนด์ขาลงชัดเจนได้หรือไม่
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น ได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลง -0.9% สู่ระดับ 106 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษออกมาดีกว่าคาด

 

อนึ่ง แม้ว่าตลาดการเงินจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่าการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) รีบาวด์ขึ้น +1.0% กลับสู่ระดับ 1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ของราคาทองคำดังกล่าว อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้ โดยเฉพาะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านได้ และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดออกมาดีกว่าคาด โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าวิกฤตพลังงานที่ไม่ได้น่ากังวลมากนัก จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 85 จุด

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตของ ECB ว่าจะเร่งขึ้น +75bps ต่อเนื่องได้หรือไม่ และ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับใดในปีหน้า
 

ในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 3.25% เพื่อคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ 6% และช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินวอน (KRW)
 

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดคาดว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตเพียง 5.5%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ยังโตกว่า +10%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือนตุลาคมอาจกลับมาขาดดุลถึง -1.4 พันล้านดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.00-36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.45 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ แข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง

 

 หลังบันทึกการประชุมเฟด (FOMC minutes) ที่เปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมา ตอกย้ำความเป็นไปได้ที่เฟดจะชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่คาดก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.90-36.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย ทิศทางฟันด์โฟลว์และสกุลเงินเอเชีย ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้ และข้อมูล PMI เดือนพ.ย ของญี่ปุ่น