รู้จัก‘หุ้นโรงไฟฟ้า’ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

14 ต.ค. 2565 | 20:09 น.

หุ้นโรงไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยจำนวนหุ้นที่มีให้เลือกลงทุนหลากหลาย ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องความมั่นคง ผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง และไม่ค่อยผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับหุ้นพลังงานประเภทอื่น ๆ

 

หุ้นโรงไฟฟ้า เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยจำนวนหุ้นที่มีให้เลือกลงทุนหลากหลาย ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องความมั่นคง ผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง และไม่ค่อยผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจมากนักเมื่อเทียบกับหุ้นพลังงานประเภทอื่น ๆ

 

การลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้าจึงค่อนข้างเหมาะกับนักลงทุนที่มองหา ‘หุ้นปลอดภัย’ หรือ Defensive Stock ที่ทนทานต่อความผันผวนได้ดี พื้นฐานแข็งแกร่ง สามารถจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ แต่อาจจะไม่ใช่หุ้นที่เติบโตหวือหวา เพราะเน้นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก

 

หุ้นโรงไฟฟ้าแบ่งเป็นกี่ประเภท?

 

สามารถจัดกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามประเภทเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 

1. โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล (Conventional Energy) ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา เป็นต้น

         

เป็นแหล่งพลังงานหลักในปัจจุบัน เพราะมีความเสถียรในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง สามารถควบคุมการผลิตไฟฟ้าได้ง่าย จึงมักถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่ กำลังการผลิตสูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล มีผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม

 

หุ้นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากฟอสซิล ได้แก่ BGRIM, BPP, EGCO, GPSC, GULF, RATCH, SCG

 

2.โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ, โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงไฟฟ้าขยะ, โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น

 

 

เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ แต่มีข้อจำกัดเรื่องความเสถียรที่ต่ำกว่าพลังงานจากฟอสซิล และมีขนาดกำลังการผลิตที่น้อย เพราะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน จึงทำให้ในปัจจุบันยังคงเป็นพลังงานทางเลือก แต่จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต จากการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง Net zero emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 

หุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ACC, ACE, BCPG, CKP, CV, DEMCO, EA, ETC, GREEN, GUNKUL, NOVA, PRIME, SOLAR, SPCG, SSP, SUPER, TGE, TSE, TPIPP, EP TPCH, PSTC,UPA, SAAM

 

 

วิเคราะห์หุ้นโรงไฟฟ้า ต้องรู้อะไร?

 

การวิเคราะห์หุ้นโรงไฟฟ้า จำเป็นต้องเข้าใจภาพรวมอุตสาหกรรม ลักษณะธุรกิจ จุดแข็งจุดอ่อน ปัจจัยการเติบโต และอัตราส่วนทางการเงิน สำหรับผู้ที่สนใจหุ้นโรงไฟฟ้า ข้อมูลที่ควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน มีดังนี้

 

1. แนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงาน

         

ทิศทางการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจัยแรก คือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้นด้วย หากความต้องการใช้ไฟฟ้าขยายตัว ก็จะเร่งให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น

         

ปัจจัยที่สอง คือ นโยบายภาครัฐ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในไทย ถูกกำกับดูแลโดยภาครัฐ ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย และแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ผ่านนโยบายที่เรียกว่า แผน PDP (Power Development Plan) และ AEDP (Alternative Energy Development Plan) ซึ่งกำหนดอนาคตได้เลย เพราะบอกให้รู้ว่าประเทศไทยมีเป้าหมายเพิ่มโรงไฟฟ้าอีกเท่าไร และเน้นส่งเสริมเชื้อเพลิงประเภทไหนบ้าง

 

2. สัญญาซื้อขายไฟ

         

รายได้หลักของโรงไฟฟ้ามาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA: Power Purchase Agreement) โดยในปัจจุบันจะมีทั้งสัญญาที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทำกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บางโครงการจะมีการสนับสนุนอัตรารับซื้อไฟภายใต้ระบบ Adder และ Feed-in Tariff ทำให้ผู้ผลิตมีกำไรที่สูงกว่าปกติ ซึ่งส่วนมากจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

         

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาในรูปแบบเอกชนกับเอกชน (Private Power Purchase Agreement) เช่น การจำหน่ายไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจที่ต้องการใช้ไฟจำนวนมาก ดังนั้นแล้ว การรู้ว่าหุ้นที่เราลงทุนมีสัญญาซื้อขายไฟแบบไหนบ้าง รายละเอียดเป็นอย่างไร ใครคือลูกค้า ก็จะช่วยประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

 

3. ขนาดกำลังการผลิตและรูปแบบรายได้

         

สามารถจัดกลุ่มโรงไฟฟ้าเอกชนตามขนาดกำลังการผลิตเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีธรรมชาติของธุรกิจและรูปแบบการรับรู้รายได้ที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

  • โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) กำลังการผลิต > 90 เมกะวัตต์

 

รายได้มั่นคงที่สุดจากสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับ EGAT ซึ่งรายได้จะมาจากการจ่ายไฟเข้าระบบจริง ตามปริมาณการใช้ของผู้บริโภคในประเทศ และจะมีการรับประกันปริมาณรับซื้อไฟขั้นต่ำ (Minimum take) ให้ด้วย

 

  • โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) กำลังการผลิต 10 - 90 เมกะวัตต์

 

การรับรู้รายได้ค่อนข้างมั่นคงเช่นกันจากสัญญาขายไฟระยะยาวกับ EGAT และอาจจะมีรายได้บางส่วนจากการขายไฟให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะขึ้นลงตามภาวะอุตสาหกรรมของลูกค้า

 

  • โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) กำลังการผลิต < 10 เมกะวัตต์

 

ส่วนมากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีสัญญาซื้อขายไฟกับ MEA และ PEA ซึ่งจะมีเงินอุดหนุนภายใต้ระบบ Adder และ Feed-in Tariff แต่รายได้จะมีความผันผวนตามสภาพภูมิอากาศและปริมาณวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

 

4. ประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารต้นทุน

         

ไฟฟ้าไม่สามารถเก็บสต็อกเหมือนสินค้าอื่น เมื่อผลิตแล้วต้องส่งไปยังผู้ใช้ทันทีผ่านระบบสายส่ง จึงเป็นความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันก็มีความพยายามพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ขณะที่ต้นทุนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญด้านการแข่งขันทางธุรกิจ หากใครมีความได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ หรือพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตและอัตรากำไรในการขายไฟ

 

5. กลยุทธ์ขยายการเติบโต

         

การเติบโตของโรงไฟฟ้า ต้องมาจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทางเลือกเดียวคือลงทุนเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้า เพราะฉะนั้น ต้องให้ความสำคัญกับแผนการเติบโตในอนาคตด้วย เช่น การเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ การลงทุนในต่างประเทศ การหาพันธมิตรร่วมลงทุน เป็นต้น

 

อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ

 

ควรเข้าใจในเชิงลึกของหุ้นแต่ละตัวด้วย โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าแล้ว อัตราส่วนทางการเงินที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ มีดังนี้

 

D/E Ratio

         

D/E Ratio คือ หนี้สินต่อทุน ซึ่งจะบอกว่ามีภาระหนี้สินมากน้อยแค่ไหน เพราะหุ้นโรงไฟฟ้าจะโตได้ต้องลงทุนเพิ่ม ดังนั้น ยิ่ง D/E ต่ำยิ่งดี และโดยปกติแล้ว D/E ที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 2 เท่า เพราะจะติดเพดานภาระหนี้สิน โอกาสจะกู้เงินเพื่อขยายการเติบโตก็ยาก

 

Margin of Safety

         

Margin of Safety คือ ส่วนลดของราคาหุ้นที่เรายอมเข้าซื้อเมื่อเทียบมูลค่าพื้นฐานที่ประเมิน โดยอาจเทียบความถูกแพงของหุ้นจาก P/E หรือ P/BV เช่น กำหนดให้ P/E ไม่เกินค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนหุ้นโรงไฟฟ้านั้นคาดหวังผลตอบแทนระยะยาว จึงควรมองหาหุ้นที่มี Margin of Safety สูง ๆ เอาไว้ช่วยลดความไม่แน่นอนในอนาคต

 

Beta

         

Beta คือ ค่าที่บอกความผันผวนของราคาหุ้น โดยนำการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนี หากเรามองหาหุ้นโรงไฟฟ้าที่เป็น Defensive Stocks เน้นมั่นคง ผันผวนต่ำ แนะนำเลือกหุ้นที่มี Beta ต่ำกว่า 1 จะช่วยลดแรงกดดันต่อความผันผวนของตลาดหุ้นได้

 

Gross Profit Margin

         

Gross Profit Margin คืออัตรากำไรขั้นต้น สะท้อนถึงฝีมือของบริษัทในการเค้นประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารต้นทุน ยิ่งสูงยิ่งดี และควรเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่มีรุปแบบการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน

 

Dividend Yield

         

Dividend Yield คือ ผลตอบแทนจากเงินปันผล ควรเลือกหุ้นโรงไฟฟ้าที่จ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะธรรมชาติของโรงไฟฟ้า เมื่อลงทุนไปแล้วจะสามารถสร้างกระแสเงินสดกลับมาต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทที่ดีก็ควรจ่ายปันผลกลับให้ผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่ง Dividend Yield ควรมีอัตราที่สม่ำเสมอ และสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

 

สุดท้ายแล้วการวิเคราะห์หุ้นโรงไฟฟ้า ต้องพิจารณาทั้งปัจจัยภายนอก เข้าใจข้อมูลเชิงลึกของหุ้นแต่ละตัว รวมทั้งประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสม เพราะถึงแม้หุ้นโรงไฟฟ้าจะขึ้นชื่อว่าปลอดภัย แต่หากราคาวิ่งไปไกลแล้ว การคาดหวังว่าหุ้นจะเติบโตก็เป็นที่ต้องใช้เวลา และเพื่อให้การตัดสินใจลงทุนครบทุกมิติมากขึ้น ควรศึกษาข้อมูลจากบทวิเคราะห์ที่หลากหลายด้วย

 

ที่มา : SET , setinvestnow.com