ประกันภัยเข้ม คุมเสี่ยง ก่อนออกโปรดักต์

18 มี.ค. 2566 | 12:31 น.

ประกันภัยเข้มคุมความเสี่ยง “วิริยะ” เน้นลงทุนในประเทศเป็นหลัก พร้อมทำ Stress Tess ก่อนออกโปรดักต์ใหม่ หลังปีก่อนจ่ายสินไหมโควิดกว่า 2 หมื่นล้าน ด้านทีทีบีจ่อเปิดตัวพันธมิตรบริษัทประกัน ดันเบี้ยแตะ 1 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี

แม้บริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่งจะถูกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจและปิดตัวไปเมื่อปี 2565 แต่จนถึงวันนี้การจ่ายเคลมสินไหมประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ ยังไม่จบ โดย ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้มายื่นคำร้อง 7 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ถึง 6.5 หมื่นล้านบาท จึงมีความกังวลว่า กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีจะมีเงินเพียงพอ ส่งผลให้การจ่ายเงินล่าช้า

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า พอร์ตลงทุนในสินทรัพย์บริษัทจะเน้นการลงทุนตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยปีนี้ คาดหวังผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี ส่วนใหญ่จะลงทุนในหุ้นที่อยู่ใน SET100 และตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีๆ

นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ปี 2566 ทิศทางการลงทุนในตลาดน่าจะทรงตัว แต่ยังมีโอกาส โดยเฉพาะบริษัท จะเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และคาดว่าปี 2567 ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดขึ้นกว่าปีนี้ ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยว

สำหรับสินทรัพย์ในพอร์ตลงทุนรวมมีทั้งสิ้น 69,947 ล้านบาทประกอบด้วยตราสารทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 44% เงินฝากกับสถาบันการเงิน 21% สินทรัพย์อื่น 17% ตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน 16% และสินทรัพย์ลงทุนอื่นอีก 2%

ประกันภัยเข้ม คุมเสี่ยง ก่อนออกโปรดักต์

ขณะที่บริษัทตั้งเป้ายอดขายทั้งปี 4.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 6% ซึ่งสูงกว่าระบบที่คาดว่าจะเติบโต 5.5% โดยมาจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 3.76 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 5%และเบี้ยประกันที่ไม่ใช่มอเตอร์ 11% คิดเป็นวงเงิน 5,700 ล้านบาท

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนงานด้านการประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์หรือ Non-Motor นั้น บริษัทมีแผนจะออกโปรดักต์ “เจอ จ่ายค่ารักษา” ในเดือนนี้ ส่วนประกันสุขภาพนั้น บริษัทมีผู้เชี่ยวชาญจัดการค่าสินไหมได้อย่างดีขึ้นในกลุ่มบริษัทอยู่แล้ว

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

สำหรับโปรดักต์ใหม่ๆ ที่จะออกสู่ตลาดบริษัทมีการทำ Stress Tess อย่างเข้มข้น หลังจากปีที่แล้ว บริษัทจ่ายเคลมสินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิดกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรมธรรม์โควิดครบครบกำหนดหมดแล้วตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2565 โดยบริษัทยังมีความมั่นคงทั้งด้านสินทรัพย์กว่า 70,000 ล้านบาท เงินสำรองและเงินกองทุนแข็งแกร่งอยู่ในระดับสูงกว่าที่คปภ.กำหนด 155% ขณะเดียวกันบริษัทมีสภาพคล่องในระดับสูง 400%

ด้านนายฐากร ปิยะพันธุ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ทหารไทยธนชาต ( ttb )กล่าวว่า ธนาคารเตรียมเปิดตัวพันธมิตรบริษัทประกันภัยของ “ทีทีบี โบรกเกอร์”ในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยทีทีบี โบรกเกอร์เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยและเป็นบริษัทลูกของธนาคาร เบื้องต้นคาดว่า จะมีพันธมิตรบริษัทประกันภัย 10 บริษัท พร้อมตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี “ทีทีบี โบรกเกอร์” จะมีเบี้ยประกันภัยรับ 10,000 ล้านบาท

นายฐากร ปิยะพันธุ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB)

ส่วนปีนี้คาดว่า จะมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000 ล้านบาท โดยมีฐานลูกค้าจากลูกค้ารถยนต์กว่า 1 ล้านราย เฉพาะปีแรกกลุ่มนี้จะเป็นลูกค้าซื้อประกันภัยราว 1 แสนราย นอกจากนี้ธนาคารยังมีช่องทางสาขาอีกกว่า 540 สาขา ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อประกันภัย หรือพ.ร.บ.และต่ออายุกรมธรรม์กับโบรกเกอร์ได้

 

สำหรับ “TTB Broker” เดิมชื่อ บริษัท ธนชาตโบรกเกอร์ จำกัด ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566